มิจฉาอาชีวะ (บาลีวันละคำ 4,106)
มิจฉาอาชีวะ
มิจฉาอาชีวะในบาลี
บางทีก็เหมือนมิจฉาชีพในไทย
อ่านว่า มิด-ฉา-อา-ชี-วะ
ประกอบด้วยคำว่า มิจฉา + อาชีวะ
(๑) “มิจฉา”
เขียนแบบบาลีเป็น “มิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า มิด-ฉา เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ไม่แจกด้วยวิภัตติ คือคงรูปเดิมเสมอ
“มิจฺฉา” แปลว่า “ผิด” ถ้าอยู่ตามลำพังมีฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์ มีความหมายว่า อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong –, false) ถ้าใช้ประกอบข้างหน้าคำนาม ก็ทำหน้าที่ขยายความให้รู้ว่า นามคำนั้นมีความหมายว่าผิด เช่น “มิจฉาชีพ” = อาชีพที่ผิด
(๒) “อาชีวะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อาชีว” อ่านว่า อา-ชี-วะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + ชีวฺ = อาชีว + อ = อาชีว แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)
บาลี “อาชีว” สันสกฤตก็เป็น “อาชีว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.”
อาชีว ใช้ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น อาชีวศึกษา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”
จะเห็นได้ว่า “อาชีว–อาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การประกอบอาชีพ” (การทำงาน)
ความหมายสั้นๆ ของ “อาชีว–อาชีพ” ก็คือ วิธีการที่จะอยู่รอด หรือวิธีการที่จะไม่อดตาย
มิจฺฉา + อาชีว = มิจฺฉาอาชีว (มิด-ฉา-อา-ชี-วะ) แปลว่า “เลี้ยงชีพในทางที่ผิด” (wrong living)
โปรดสังเกตว่า “มิจฺฉาอาชีว” ใช้กฎการสมาสโดยไม่สนธิ คือยังคงเป็น “มิจฺฉา-อาชีว” ไม่เป็น “มิจฺฉาชีว”
“มิจฺฉาอาชีว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มิจฉาอาชีวะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มิจฉาอาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีพในทางผิด.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
…………..
มิจฉาอาชีวะ : เลี้ยงชีพผิด ได้แก่หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น (ข้อ ๕ ใน มิจฉัตตะ ๑๐)
…………..
ขยายความ :
“มิจฺฉาอาชีว” หรือ “มิจฉาอาชีวะ” ในบาลีท่านให้คำนิยามหรือจำกัดความหมายไว้ดังนี้ –
…………..
กตโม จ ภิกฺขเว มิจฺฉาอาชีโว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน?
กุหนา = การโกง
ลปนา = การล่อลวง
เนมิตฺตกตา = การตลบตะแลง
นิปฺเปสิกตา = การทำอุบายโกง
ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตา = การเอาลาภต่อลาภ
อยํ ภิกฺขเว มิจฺฉาอาชีโว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือมิจฉาอาชีวะ
ที่มา: มหาจัตตารีสกสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 275
…………..
แถม :
ภาษาไทยมีคำว่า “มิจฉาชีพ” ซึ่งมีที่มาอย่างเดียวกับ “มิจฺฉาอาชีว” ในบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มิจฉาชีพ : (คำนาม) การหาเลี้ยงชีวิตในทางผิด, อาชีพที่ผิดกฎหมาย, เช่น เขาประกอบมิจฉาชีพ. (คำวิเศษณ์) ที่หาเลี้ยงชีวิตในทางผิด, ที่ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย, เช่น พวกมิจฉาชีพ. (ป. มิจฺฉา + อาชีว).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มิจฉาชีพอาจช่วยให้รอดตายได้
: แต่ไม่อาจช่วยให้รอดจากนรกได้เลย
#บาลีวันละคำ (4,106)
9-9-66
…………………………….
…………………………….