บาลีวันละคำ

ภพ (บาลีวันละคำ 4,108)

ภพ

คำไม่ยาว แต่จบยาก

อ่านว่า พบ

ภพ” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ภว” อ่านว่า พะ-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น; เจริญ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความมีความเป็น” (2) “ภาวะที่เจริญ” (3) “เหตุเป็นเครื่องเจริญแห่งเหล่าสัตว์” (4) “ที่เป็นที่เกิดขึ้น” (5) “เหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้น” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภว” ว่า becoming, form of rebirth, state of existence, a life (ความเกิดใหม่, ภพ, รูปกำเนิด, ความมี, ชีวิต)

ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “ภว-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “ภวะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภว-, ภวะ : (คำนาม) ความเกิด, ความมี, ความเป็น; ภพ. (ป., ส.).”

บาลี “ภว” ในภาษาไทยแปลง เป็น ใช้เป็น “ภพ” ได้อีกรูปหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภพ : (คำนาม) โลก, แผ่นดิน; วัฏสงสาร. (ป. ภว).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงความหมายของ “ภพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ภพ : โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ คือ ๑. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน.

…………..

ขยายความ :

ในภาษาไทย มีคำที่ออกมาจาก “ภว” และ “ภพ” ที่พอจะนำมาเสนอไว้เป็นความรู้ในที่นี้บางคำ เช่น – 

(1) ภวาภพ : (คำนาม) ความเป็นอยู่และมิใช่ความเป็นอยู่, ภพและมิใช่ภพ; ภพน้อยภพใหญ่. (ป., ส. ภวาภว).

(2) ภวกษัย : (คำนาม) ความสิ้นภพ, นิพพาน. (ส.). 

(3) ภวตัณหา : (คำนาม) ตัณหาเป็นไปในภพ คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากเกิด. (ป.). 

(4) ภวปาระ : (คำนาม) ฝั่งแห่งภพ คือ นิพพาน. (ป.). 

(5) ภวันดร : (คำนาม) ภพอื่น, ภพภายหน้า. (ป.; ส. ภวานฺตร).

ในทางธรรม “ภพ” เป็นห่วงโซ่ห่วงหนึ่งในจำนวน 12 ห่วง ที่เรียกว่า “ปัจยาการ” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท”

ขอนำความในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่แสดงอาการของ “ปฏิจจสมุปบาท” มาเสนอไว้เป็นหลักความรู้ดังนี้ –

…………..

ปฏิจจสมุปบาท : “การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม”, สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้

๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา 

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี

๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ 

เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ 

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ 

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส 

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา 

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

๗. เวทนาปจฺจยา ตฺณหา 

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ 

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว 

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี 

๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ 

เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี

๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ 

เพราะชาติ เป็นปัจจัย (๑๒.) ชรามรณะจึงมี 

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ 

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อม 

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้

…………..

จะเห็นได้ว่า “ภพ” อยู่ในห่วงลำดับที่ 9 และ 10 คือ “ภพ” มีเพราะอุปาทาน และ “ภพ” ส่งผลให้มีชาติ คือความเกิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นิพพานเป็น “ภพ” หรือไม่

: ใครตอบถูกเข้าใจได้ก็จะพ้นจากวนเวียน

#บาลีวันละคำ (4,108)

11-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *