อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง (บาลีวันละคำ 4,109)
อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ช่วยกันสะกดให้ถูก
“อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” ทุกคนอ่านออกแม้จะไม่บอกคำอ่าน
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่อ่านไม่ออก แต่คือสะกดไม่ถูก หรืออันที่จริงคือสะกดตามใจฉัน
เคยพบแห่งหนึ่ง สะกดเป็น –
อายุวันโนสุขังพระลัง (ดูภาพประกอบ)
เป็นการสะกดตามใจฉันหรือตามใจชอบของฉันอย่างแท้จริง
ที่นำมาเป็นภาพประกอบ ไม่ใช่เพื่อจะให้สะกดตามเขียนตามใช้ตาม แต่เพื่อเป็นการเตือนสติว่าไม่ควรทำแบบนี้ และอย่าทำแบบนี้
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้สะกดตามที่ยกขึ้นเป็นบาลีวันละคำวันนี้ คือ –
“อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”
สะกดแบบนี้เป็นการสะกดแบบไทยหรือสะกดแบบเขียนคำอ่าน
“อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” ถ้าสะกดแบบคำบาลีก็จะเป็น –
“อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
สะกดแบบไทย: อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
สะกดแบบบาลี: อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
อ่านคำสะกดแบบไทยก็เท่ากับอ่านคำบาลี
ขยายความ :
“อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” (อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ) เป็นข้อความในคาถาที่พระสงฆ์สวดอนุโมทนา อยู่ในบทที่เรียกกันติดปากว่า “ยะถา-สัพพี” ข้อความเต็มๆ ในคาถาบทนี้มีดังนี้ –
เขียนแบบไทย:
อะภิวาทะนะสีลิสสะ
นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ
อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.
เขียนแบบบาลี:
อภิวาทนสีลิสฺส
นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.
คำแปล:
บุคคลผู้มีปรกติไหว้กราบ
มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์
ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
…………..
ความหมาย :
(๑) “อายุ”
“อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”
(๒) “วัณโณ”
ในภาษาบาลี “วัณโณ” มีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
บาลี “วณฺณ” ภาษาไทยใช้เป็น “วรรณ” (วรรณะ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”
(๓) “สุขัง”
คือ “สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –
(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”
(๔) “พะลัง”
คือ “พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พล, พล– : (คำนาม) กำลัง, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตำรวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สะกดถูก พรศักดิ์สิทธิ์
: สะกดผิด พรไม่ขลัง
#บาลีวันละคำ (4,109)
12-9-66
…………………………….
…………………………….