บาลีวันละคำ

เตจีวริกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 2 (บาลีวันละคำ 4,111)

เตจีวริกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 2

ใช้ผ้าสามผืน

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

เตจีวริกังคะ” อ่านว่า เต-จี-วะ-ริ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า เตจีวริก + อังคะ

(๑) “เตจีวริก

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า เต-จี-วะ-ริ-กะ ประกอบด้วยคำว่า เตจีวร + อิก ปัจจัย

(ก) “เตจีวร” รูปคำเดิมเป็น “ติจีวร” (ติ-จี-วะ-ระ) ประกอบด้วย ติ + จีวร 

(1) “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

(2) “จีวร” บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > )

: จิ > + อีวร = จีวร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ” 

จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน

ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice) 

: ติ + จีวร = ติจีวร (ติ-จี-วะ-ระ) แปลว่า “ผ้าสามผืน

(ข) ติจีวร + อิก ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ติ เป็น เอ (ติ > เต)

: ติจีวร + อิก = ติจีวริก > เตจีวริก (เต-จี-วะ-ริ-กะ) แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าสามผืน” หมายถึง ภิกษุผู้ใช้ผ้าเครื่องนุ่มห่มเพียง 3 ผืน คือ ผ้านุ่ง (อันตรวาสก) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และ ผ้าห่มซ้อนกันหนาว (สังฆาฏิ) ใช้ผ้าเพียงเท่านี้ ไม่มีผืนที่ 4

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

เตจีวริก + องฺค = เตจีวริกงฺค (เต-จี-วะ-ริ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือครองเพียงไตรจีวร” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการใช้ผ้าเพียงสามผืน

เตจีวริกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เตจีวริกังคะ” 

ขยายความ :

เตจีวริกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 2 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “เตจีวริกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) เตจีวริกังคะ : องค์แห่งภิกษุผู้ถือครองเพียงไตรจีวร คือถือใช้ผ้านุ่งห่มเพียง ๓ ผืน ได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนเป็นชุดเดียวเท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้าสามผืนนั้น, คำสมาทานว่า “จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ 4 สมาทานองค์แห่งผู้ถือครองเพียงไตรจีวร” (ข้อ ๒ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “เตจีวริกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 2 ไว้ดังนี้ –

…………..

2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร คำสมาทานว่า “จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ 4 สมาทานองค์แห่งผู้—” — Tecīvarikaṅga: triple-robe-wearer’s practice)

…………..

เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาเดิมกำหนดให้ใช้ผ้าเพียง 3 ผืน ที่เรียกรู้กันว่า ไตรจีวร ด้วยหลักความจริงที่ว่า ผ้า 3 ผืนเท่านี้เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย กล่าวตามคำของท่านผู้รู้ว่า เพียงเท่านี้ก็ได้คุณค่าแท้แล้ว เกินจากนี้เป็นคุณค่าเทียม

ต่อมา จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้ผ้าอื่นๆ อีก เช่น ผ้าอังสะ ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูเสนาสนะ เป็นต้น 

ภิกษุผู้มุ่งจะขัดเกลาตนเองสละสิทธิ์ที่จะใช้ผ้าที่เกินเข้ามาเหล่านี้ คงใช้เพียงผ้า 3 ผืนอันมีมาแต่เดิม การถือเช่นนี้จึงจัดว่าเป็นธุดงค์ (ข้อปฏิบัติเพื่อการขัดเกลา) ข้อหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้ผ้าสามผืนก็เป็นธุดงค์

: ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเดินแบกกลด

#บาลีวันละคำ (4,111)

14-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *