บาลีวันละคำ

ปิณฑปาติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 3 (บาลีวันละคำ 4,112)

ปิณฑปาติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 3

หากินด้วยลำแข้ง

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

ปิณฑปาติกังคะ” อ่านว่า ปิน-ดะ-ปา-ติ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ปิณฑปาติก + อังคะ

(๑) “ปิณฑปาติก

เขียนแบบบาลีเป็น “ปิณฺฑปาติก” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า ปิน-ดะ-ปา-ติ-กะ ประกอบด้วยคำว่า ปิณฺฑปาต + อิก ปัจจัย

(ก) “ปิณฺฑปาต” อ่านว่า ปิน-ดะ-ปา-ตะ แยกศัพท์เป็น ปิณฺฑ + ปาต 

(1) “ปิณฺฑ” (ปิน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑฺ (ธาตุ = รวบรวม, ทำให้เป็นกอง) + (อะ) ปัจจัย 

: ปิณฺฑฺ + = ปิณฺฑ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน” 

ปิณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ก้อน, ก้อนกลม, มวลที่หนาและกลม (a lump, ball, thick & round mass)

(2) ก้อนข้าว, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ถวายพระหรือให้ทาน, ทานที่ให้เป็นอาหาร (a lump of food, esp. of alms, alms given as food) 

(3) กองรวม, การสะสม, รูปหรือแบบอัดกันแน่น, กอง (a conglomeration, accumulation, compressed form, heap) 

(2) “ปาต” (ปา-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปตฺ > ปาต

: ปตฺ + = ปตณ > ปต > ปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไป” หมายถึง (1) การตก (fall) (2) การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)

ปิณฺฑ + ปาต = ปิณฺฑปาต (ปิน-ดะ-ปา-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” “การโยนก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตร, อาหารที่บิณฑบาตได้มา (alms-gathering, food received in the alms-bowl)

ปิณฺฑปาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “บิณฑบาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บิณฑบาต : (คำนาม) อาหาร (ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต. (คำกริยา) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน. (ป. ปิณฺฑปาต ว่า ก้อนข้าวที่ตก).”

เป็นอันว่า ในภาษาไทย “บิณฑบาต” มี 2 ความหมาย คือ –

(1) อาหาร

(2) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร คือที่พูดกันสั้นๆ “ออกบิณฑบาต”

(ข) ปิณฺฑปาต + อิก = ปิณฺฑปาติก (ปิน-ดะ-ปา-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้ออกบิณฑบาตเป็นปกติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิณฺฑปาติก” ว่า one who eats only food received in the alms-bowl (ผู้ฉันอาหารเฉพาะที่ได้รับบิณฑบาตมา) 

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

ปิณฺฑปาติก + องฺค = ปิณฺฑปาติกงฺค (ปิน-ดะ-ปา-ติ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

ปิณฺฑปาติกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปิณฑปาติกังคะ” 

ขยายความ :

ปิณฑปาติกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 3 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “ปิณฑปาติกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) ปิณฑปาติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ คือ ไม่รับนิมนต์หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้, คำสมาทานว่า “อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานองค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ” (ข้อ ๓ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “ปิณฑปาติกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 3 ไว้ดังนี้ –

…………..

3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คำสมาทานว่า “อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานองค์แห่งผู้—” — Piṇḍapātikaṅga: alms-food-eater’s practice)

…………..

หลักข้อหนึ่งในการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง” 

และเครื่องใช้ประจำตัวที่ต้องมีพร้อมในพิธีบวชคือ “บาตร” เป็นอันยืนยันได้ว่า ผู้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ต้องทำกิจที่เรียกว่า “ออกบิณฑบาต” เป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้เพราะ “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง” 

ปัจจุบันมีพระภิกษุที่ดำรงอยู่ในบางสถานะไม่ออกบิณฑบาตกันมากขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ และมีเหตุผลสนับสนุนกันมากขึ้น การที่พระภิกษุไม่ออกบิณฑบาตเริ่มจะเห็นกันว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องไม่ปกติ

ที่ว่า “โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องไม่ปกติ” กล่าวโดยอาศัยเหตุผลจากกิจที่พระอุปัชฌาย์ต้องบอกแก่ภิกษุใหม่ทันทีที่เสร็จพิธีอุปสมบท ที่รู้จักกันในคำว่า “บอกอนุศาสน์” 1 ในเรื่องที่ต้องบอกทันทีคือ “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง” ซึ่งนั่นก็คือ-โดยปกติแล้วภิกษุต้องออกบิณฑบาตนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในคำ “บอกอนุศาสน์” นั่นเองก็บอกถึงข้อยกเว้นไว้ด้วย ที่เรียกว่า “อติเรกลาโภ” กล่าวคือ ถ้ามีผู้นิมนต์ไปรับอาหารบิณฑบาตเป็นกรณีพิเศษ หรือมีผู้จัดอาหารถวายภิกษุในโอกาสบางอย่าง กรณีเช่นนี้ไม่ต้องออกบิณฑบาตตามปกติ แต่โดยทางปฏิบัติก็ยังต้องถือบาตรไปรับอาหารที่เป็น “อติเรกลาโภ” อยู่นั่นเอง เพียงแต่ในปัจจุบันใช้วิธีอนุโลมกันมากเข้า คือไม่ต้องมีบาตรไปรับอาหาร แต่ไปฉันอาหารหรือรับอาหารที่เป็น “อติเรกลาโภ” มาฉันได้เลย และทำกันทั่วไปจนมองเห็นเป็นภาพออกมาว่า ไม่ต้องออกบิณฑบาตและไม่ต้องใช้บาตรก็มีอาหารฉันได้ทุกมื้อ

ภาพพระออกบิณฑบาตยังมีให้เห็น โปรดช่วยกันศึกษาและจดจำภาพวิถีชีวิตสงฆ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ซึ่งยังพอหาดูได้ในปัจจุบันนี้ไว้เถิด เพราะในอนาคตอาจจะไม่ได้เห็นภาพเช่นนี้กันอีกแล้ว

ภิกษุผู้มุ่งขัดเกลาตนเองสละสิทธิ์ที่จะฉันอาหารที่เป็นอดิเรกลาภทุกอย่าง ฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มาเท่านั้น นั่นคือออกบิณฑบาตทุกวัน ไม่ไปฉันในกิจนิมนต์หรือฉันอาหารที่ได้มาโดยวีอื่นๆ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระออกบิณฑบาต ญาติโยมใส่บาตร

: เป็นการประกาศว่านี่คือถิ่นแผ่นดินพุทธ

#บาลีวันละคำ (4,112)

15-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *