บาลีวันละคำ

ปังสุกูลิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 1 (บาลีวันละคำ 4,110)

ปังสุกูลิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 1

ใช้เฉพาะผ้าบังสุกุล

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

ปังสุกูลิกังคะ” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ลิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ปังสุกูลิก + อังคะ

(๑) “ปังสุกูลิก

เขียนแบบบาลีเป็น “ปํสุกูลิก” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ลิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า ปํสุกูล + อิก ปัจจัย

(ก) “ปํสุกูล” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ละ รากศัพท์มาจาก ปํสุ (ฝุน, ขยะ) + กุ (เลว, น่าเกลียด) + อุลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อุ ที่ กุ (กุ > ) ทีฆะ อุ ที่ อุ-(ลฺ) เป็น อู (อุลฺ > อูล)

: ปํสุ + กุ = ปํสุกุ > ปํสุก + อุลฺ = ปํสุกุล > ปํสุกูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่ถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่นละออง” หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น, ผ้าจากกองขยะ (rags from a dust heap)

ปํสุกูล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บังสุกุล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้นว่า ชักบังสุกุล, (ปาก) บังสกุล ก็ว่า. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเล็กน้อย เป็น –

บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐาน ว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้น ว่า ชักบังสุกุล. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”

ข้อสังเกต :

โปรดสังเกตว่า ในพจนานุกรมฯ ฉบับ 54 ตัดคำว่า “(ปาก) บังสกุล ก็ว่า” ในคำนิยามของพจนานุกรมฯ ฉบับ 42 ออกไป 

นั่นแปลว่า พจนานุกรมฯ ไม่ยอมรับอีกต่อไปว่า คำว่า “บังสุกุล” นี้ใช้ว่า “บังสกุล” ก็ได้ โดยอยู่ในฐานะเป็น “ภาษาปาก”

เท่ากับยืนยันว่า คำนี้ต้องใช้อิงรูปคำเดิมในบาลีว่า “บังสุกุล” เท่านั้น ไม่ใช่ “บังสกุล” (บังสุ– ไม่ใช่ บัง-)

(ข) ปํสุกูล + อิก = ปํสุกูลิก แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล” คือผู้นุ่งห่มด้วยผ้าบังสุกุล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปํสุกูลิก” ว่า one who wears clothes made of rags taken from a dust heap (ภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปังสุกูลิก” ซึ่งมาจากคำบาลี “ปํสุกูลิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ปังสุกูลิก– : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เรียกภิกษุผู้ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นปรกติ ว่า ปังสุกูลิกภิกษุ, เรียกชื่อธุดงค์ประการหนึ่งของภิกษุผู้ใช้ผ้าเฉพาะที่ชักมาจากซากศพหรือเก็บได้จากกองฝุ่นกองหยากเยื่อมาทำเครื่องนุ่งห่ม ว่า ปังสุกูลิกังคธุดงค์. (ป. ปํสุกูลิก).”

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

ปํสุกูลิก + องฺค = ปํสุกูลิกงฺค (ปัง-สุ-กู-ลิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือครองผ้าบังสุกุล” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการใช้ผ้าบังสุกุล

ปํสุกูลิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปังสุกูลิกังคะ” 

ขยายความ :

ปังสุกูลิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 1 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “ปังสุกูลิกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) ปังสุกูลิกังคะ : องค์แห่งผู้ถือครองผ้าบังสุกุล, ใช้เฉพาะแต่ผ้าบังสุกุล คือ ไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุล เช่นเศษผ้าในกองขยะ มาเย็บย้อมทำจีวรเอง, คำสมาทานว่า “คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้ถือครองผ้าบังสุกุล” (ข้อ ๑ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “ปังสุกูลิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 1 ไว้ดังนี้ –

…………..

1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คำสมาทานโดยอธิษฐานใจหรือเปล่งวาจาว่า “คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้—” — Paṁsukūlikaṅga: refuse-rag-wearer’s practice)

…………..

ตามหลักพระวินัย เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาที่เราเรียกรู้กันว่า “ไตรจีวร” มีทางได้มา 2 ทาง คือ 

(1) ระยะต้นที่มีกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มที่ได้มาโดยวิธีเลือกเก็บหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บย้อมทำเป็นจีวร ด้วยเหตุผลที่มุ่งให้เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย ไม่มักมาก และเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ดังปรากฏพระพุทธพจน์ที่พระอุปัชฌาย์ยกมาชี้แจงเสมือนปฐมนิเทศพระบวชใหม่ในทันที่บวชเสร็จที่เรียกกันว่า “บอกอนุศาสน์” ว่า “ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม

ผ้าที่ได้มาโดยวิธีนี้เรียกว่า “บังสุกุลจีวร” มีความหมายว่า ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น กองหยากเยื่อซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย

(2) ระยะต่อมา เมื่อภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น และมีปฏิปทาเป็นที่เลื่อมใสของประชาชน เกิดมีผู้ศรัทธาปรารถนาจะอุปการะภิกษุให้มีความสะดวกด้วยปัจจัยสี่ จึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าที่ชาวบ้านถวายโดยตรงเพื่อทำจีวร ตลอดจนถวายจีวรสำเร็จรูปอย่างที่ถวายกันในปัจจุบันได้

ผ้าที่ชาวบ้านถวายโดยตรงเช่นนี้เรียกว่า “คฤหบดีจีวร” 

พระที่ถือธุดงค์ข้อนี้จะใช้เฉพาะ “บังสุกุลจีวร” ไม่ใช้ “คฤหบดีจีวร

ความจริง บังสุกูลจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มดั้งเดิมของพระในพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในคำบอกอนุศาสน์ว่า “ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม” ภายหลังจึงมีพุทธานุญาตให้ใช้ผ้าอื่นๆ ได้ด้วย ปัจจัยเครื่องยังชีพที่ทรงอนุญาตพิเศษเช่นนี้เรียกว่า “อดิเรกลาภ” 

พระที่ถือธุดงค์ข้อนี้ก็เท่ากับสละสิทธิ์ที่จะใช้ผ้าที่เป็นอดิเรกลาภ แต่พอใจที่จะใช้เครื่องนุ่งห่มดั้งเดิมของบรรพชิตนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

อะไรเอ่ย –

: เขาทิ้งไว้ตามกองขยะ

: แต่สามารถพาพระไปถึงนิพพาน

#บาลีวันละคำ (4,110)

13-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *