บาลีวันละคำ

เอกาสนิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 5 (บาลีวันละคำ 4,114)

เอกาสนิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 5

ฉันมื้อเดียวตัวจริง

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

เอกาสนิกังคะ” อ่านว่า เอ-กา-สะ-นิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า เอกาสนิก + อังคะ

(๑) “เอกาสนิก

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า เอ-กา-สะ-นิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า เอกาสน + อิก ปัจจัย

(ก) “เอกาสน” อ่านว่า เอ-กา-สะ-นะ แยกศัพท์เป็น เอก + อาสน

(1) “เอก” บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน

เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน” 

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด 

(2) “อาสน” บาลีอ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

เอก + อาสน = เอกาสน (เอ-กา-สะ-นะ) แปลว่า “การนั่งครั้งเดียว” หมายถึง นั่งฉันภัตตาหารครั้งเดียว 

(ข) เอกอาสน + อิก = เอกาสนิก (เอ-กา-สะ-นิ-กะ) แปลว่า “ผู้นั่งฉันครั้งเดียว” หรือ “ผู้ฉันที่นั่งเดียว” หมายถึง ภิกษุผู้ฉันวันละมื้อเดียวครั้งเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

เอกาสนิก + องฺค = เอกาสนิกงฺค (เอ-กา-สะ-นิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการนั่งฉันครั้งเดียว” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการฉันอาหารครั้งเดียว

เอกาสนิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เอกาสนิกังคะ” 

ขยายความ :

เอกาสนิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 5 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “เอกาสนิกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) เอกาสนิกังคะ : องค์แห่งผู้ถือนั่งฉันที่อาสนะเดียว คือ ฉันวันละครั้งเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น, คำสมาทานว่า “นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร” (ข้อ ๕ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “เอกาสนิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 5 ไว้ดังนี้ –

…………..

5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก คำสมาทานว่า “นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้—” — Ekāsanikaṅga: one-sessioner’s practice)

…………..

การรับประทานอาหารของคนไทยหรือคนทั่วไปมี 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น

แต่ชาวชมพูทวีปแบ่งการรับประทานเป็น 2 ช่วง คือ –

(1) “ปาตราส” มื้อเช้า กำหนดตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน

(2) “สายมาส” มื้อเย็น กำหนดตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณวันใหม่

ชาวบ้านทั่วไปรับประทานอาหารทั้งมื้อเช้าและมีเย็น ซึ่งอาจเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “ทวิภัตติกะ” แปลว่า “ผู้มีอาหารสองมื้อ

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาถือการฉันอาหารเพียงมื้อเดียว มีคำเรียกว่า “เอกภัตติกะ” (เอ-กะ-พัด-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้มีอาหารมื้อเดียว” คือมื้อ “ปาตราส” (ก่อนเที่ยง) ไม่ฉันในมื้อ “สายมาส” (หลังเที่ยง) 

แต่ “ปาตราส” นั้น ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวันจะฉันกี่ครั้งก็ได้ ดังที่พระภิกษุสามเณรทั่วไปในเมืองไทยฉันเช้าแล้วฉันเพล คือฉัน 2 ครั้ง อย่างนี้ก็ยังคงเรียกว่า “เอกภัตติกะ” = ผู้มีอาหารมื้อเดียว อยู่นั่นเอง

เอกาสนิกะ” ก็แปลว่า “ผู้ฉันมื้อเดียว” แต่หมายถึงฉันครั้งเดียวไม่ใช่มื้อเดียวตามความหมายของ “เอกภัตติกะ

ฉันก่อนเที่ยง จะฉันกี่ครั้งก็ได้ เรียกว่า “เอกภัตติกะ

ฉันก่อนเที่ยงและฉันครั้งเดียว เรียกว่า “เอกาสนิกะ

ดังนั้น ผู้ถือธุดงค์ข้อ “เอกาสนิกังคะ” จึงเป็นทั้ง “เอกภัตติกะ” และ “เอกาสนิกะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินเพื่ออยู่รู้กันทั่วไป

: อยู่เพื่ออะไรใครรู้บ้าง

#บาลีวันละคำ (4,114)

17-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *