บาลีวันละคำ

ปัตตปิณฑิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 6 (บาลีวันละคำ 4,115)

ปัตตปิณฑิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 6

ฉันอาหารที่มีอยู่ในบาตร

ไม่ใช่ลงไปนั่งในบาตร

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

ปัตตปิณฑิกังคะ” อ่านว่า ปัด-ตะ-ปิน-ดิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ปัตตปิณฑิก + อังคะ

(๑) “ปัตตปิณฑิก

เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺตปิณฺฑิก” อ่านว่า ปัด-ตะ-ปิน-ดิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า ปตฺตปิณฺฑ + อิก ปัจจัย

(ก) “ปตฺตปิณฺฑ” อ่านว่า ปัด-ตะ-ปิน-ดะ แยกศัพท์เป็น ปตฺต + ปิณฺฑ

(1) “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก – 

(๑) ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก ( = อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

(๒) ปาต (ตก) + ตา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา-(ต) เป็น อะ (ปาต > ปต), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ตา (ตา + อะ ปัจจัย, ตา อยู่หน้า อะ อยู่หลัง จึงถือว่า “อา” ที่ ตา เป็น “สระหน้า”) (ตา > )

: ปาต + ตา = ปาตตา > ปาตต + = ปาตต > ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมบาตรทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

ปตฺต” (ปุงลิงค์) หมายถึง ชาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาตรของภิกษุ (a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu) 

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปาตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปาตฺร : (คำนาม) ‘บาตร์,’ ภาชน์, ภาชนะทั่วไป, จาน, ถ้วย, ชาม, โอ่ง, ไห, หม้อ, กระปุก, ขวด, ฯลฯ.; ยัชญภาชน์, ภาชนะอันใช้ในยัญการบูชา, มีถ้วย, ชาม, จาน, ช้อน, ทรรพีรูปต่างๆ, ฯลฯ.; … a vessel in general, a plate, a cup, a dish, a jar, a pot, a bottle, &c.; a sacrificial vase or vessel, comprising various forms of cups, plates, spoons, ladles, &c.; …”

ในภาษาไทย ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บาตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาตร : (คำนาม) ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต. (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

(2) “ปิณฺฑ” (ปิน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑฺ (ธาตุ = รวบรวม, ทำให้เป็นกอง) + (อะ) ปัจจัย 

: ปิณฺฑฺ + = ปิณฺฑ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน” 

ปิณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ก้อน, ก้อนกลม, มวลที่หนาและกลม (a lump, ball, thick & round mass)

(2) ก้อนข้าว, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ถวายพระหรือให้ทาน, ทานที่ให้เป็นอาหาร (a lump of food, esp. of alms, alms given as food) 

(3) กองรวม, การสะสม, รูปหรือแบบอัดกันแน่น, กอง (a conglomeration, accumulation, compressed form, heap) 

: ปตฺต + ปิณฺฑฺ = ปตฺตปิณฺฑ แปลว่า “ก้อนข้าวในบาตร” หมายถึง อาหารที่ใส่ลงในบาตร

(ข) ปตฺตปิณฺฑ + อิก = ปตฺตปิณฺฑิก (ปัด-ตะ-ปิน-ดิ-กะ) แปลว่า “ผู้มีก้อนข้าวในบาตร” หมายถึง ภิกษุผู้ฉันเฉพาะอาหารที่ใส่ลงในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นๆ

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

ปตฺตปิณฺฑิก + องฺค = ปตฺตปิณฺฑิกงฺค (ปัด-ตะ-ปิน-ดิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตร” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตร

ปตฺตปิณฺฑิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัตตปิณฑิกังคะ” 

ขยายความ :

ปัตตปิณฑิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 6 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “ปัตตปิณฑิกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) ปัตตปิณฑิกังคะ : องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร คือ ถือการฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น, คำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร” (ข้อ ๖ ในธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “ปัตตปิณฑิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 6 ไว้ดังนี้ –

…………..

6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร คำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้—” — Pattapiṇḍikaṅga: bowl-food-eater’s practice)

…………..

คำว่า “ทุติยภาชนํ = ภาชนะที่สอง” หมายความว่า สำหรับภิกษุ “บาตร” เป็นภาชนะชนิดเดียวที่มีไว้สำหรับรับอาหารตามพระวินัย บาตรจึงเป็น “ภาชนะที่หนึ่ง” ภาชนะอื่นๆ ถ้าจะมีก็จึงเรียกว่า “ภาชนะที่สอง”

ชาวบ้านทำอาหารเอง และมักมีอาหารหลายอย่าง จึงใช้ภาชนะหลายใบ แต่ภิกษุมีบาตรใบเดียวเป็นภาชนะรับอาหารสำเร็จรูปคืออาหารที่พร้อมฉันได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้ภาชนะอื่นใดอีก ฉันอาหารจากบาตรได้ทันที เป็นความสะดวกสบายเรียบง่าย การฉันอาหารเฉพาะในบาตรจึงเป็นวิธีที่ภิกษุทำกันมาแต่เดิม

เมื่อมีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับอาหารที่ได้มาโดยวิธีอื่นเป็น “อดิเรกลาภ” กล่าวคือไม่ต้องออกบิณฑบาต จึงเริ่มมีการใช้ภาชนะอื่นๆ ใส่อาหารถวายพระ หลายๆ กรณี ภิกษุไม่ต้องใช้บาตรรับอาหารก็มีอาหารให้ฉันได้

ชั้นเดิม อาหารที่ได้มาอยู่ในบาตร จึงฉันอาหารในบาตร

ต่อมา แม้อาหารที่ได้มาจะอยู่ในบาตร แต่เวลาฉันถ่ายจากบาตรใส่ภาชนะอื่น

ปัจจุบัน แม้ไม่ออกบิณฑบาตและไม่ต้องใช้บาตร ก็มีอาหารฉัน

ด้วยประการดังนี้ “บาตร” กับวิถีชีวิตสงฆ์จึงค่อยๆ หมดความจำเป็นไปทีละน้อย ในอนาคตอันไม่ไกล “บาตร” อาจเป็นเพียงสิ่งที่ต้องมีพอเป็นพิธีหรือมีในฐานะเป็น “สัญลักษณ์” อย่างหนึ่งของพิธีบวชเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้สมกับเจตนารมณ์หรือพุทธประสงค์แต่ประการใด

ภิกษุผู้มุ่งขัดเกลาตนเองถือว่าบาตรเป็นภาชนะอย่างเดียวสำหรับรับอาหาร แม้จะได้อาหารมาโดยไม่ได้ออกบิณฑบาตก็คงใช้บาตรนั่นแหละรับอาหาร ไม่ใช้ภาชนะอื่นใดอีก

แต่เมื่อพิจารณาโดยทางปฏิบัติ ธุดงค์ข้อนี้ย่อมสอดรับกับธุดงค์ข้อ “ปิณฑปาติกังคะ” คือออกบิณฑบาตทุกวันโดยตรง นั่นคือ เพราะออกบิณฑบาตจึงมีอาหารอยู่ในบาตร และเพราะมีอาหารอยู่ในบาตรจึงฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตร

พิจารณาในแง่นี้ การนำอาหารที่ได้มาโดยวิธีอื่นๆ ใส่ลงในบาตรแล้วฉัน ก็ไม่สนิทเท่ากับฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา

อนึ่ง ตามที่เคยมีภาพและข่าวพระลงไปนั่งในบาตรขนาดใหญ่ (บาตรที่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น มิใช่เพื่อให้พระอุ้มออกไปบิณฑบาต) แล้วฉันอาหาร และบอกว่านี่คือ “ฉันในบาตร” โปรดทราบว่า เป็นเพียง “มุกตลก” ที่ไม่ควรนำมาแสดง

…………..

ดูก่อนภราดา!

แต่ละวัน เสียเวลากับการหากินไปมากแล้ว ดังนั้น –

: แต่ละมื้อ เสียเวลากับการกินให้น้อยลง

: ก็จะมีเวลาทำเรื่องอื่นที่ดีๆ ได้มากขึ้น

#บาลีวันละคำ (4,115)

18-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *