บาลีวันละคำ

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 7 (บาลีวันละคำ 4,116)

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 7

เท่านี้พอ ไม่ขอรับเพิ่ม

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ” อ่านว่า ขะ-ลุ-ปัด-ฉา-พัด-ติ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ขลุ + ปัจฉาภัตติก + อังคะ

(๑) “ขลุปัจฉาภัตติก

เขียนแบบบาลีเป็น “ขลุปจฺฉาภตฺติก” อ่านว่า ขะ-ลุ-ปัด-ฉา-พัด-ติ-กะ แยกศัพท์เป็น ขลุ + ปจฺฉา + ภตฺต + อิก ปัจจัย

(1) “ขลุ” อ่านว่า ขะ-ลุ ศัพท์นี้ตามไวยากรณ์บาลีที่เรียนกันมาท่านจัดเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” อยู่ในชุด “นิบาตบอกความได้ยินเล่าลือ” มี 3 ศัพท์ คือ กิร ขลุ สุทํ แปลว่า “ได้ยินว่า” เหมือนกันทั้ง 3 ศัพท์

แต่ในที่นี้ คัมภีร์วิสุทธิมรรค (ธุดงคนิเทส ภาค 1 หน้า 75) บอกว่า “ขลูติ  ปฏิเสธนฏฺเฐ  นิปาโต” แปลว่า “ศัพท์ว่า ขลุ เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ” คือมีความหมายเท่ากับ “” (นะ) = ไม่, ไม่ใช่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ขลุ” ไว้ดังนี้ –

either positive: indeed, surely, truly; or negative: indeed not (เป็นได้ทั้งทางบวก: จริงๆ, แน่แท้, แน่นอน; หรือทางลบ: ไม่จริงเลย, มิได้เลย) 

(2) “ปจฺฉา” อ่านว่า ปัด-ฉา เป็นศัพท์จำพวกนิบาต อยู่ในชุด “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ” นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “ปจฺฉา ภายหลัง” หมายถึง ข้างหลัง, ส่วนหลัง, ภายหลัง, ถอยหลังไป; ไปทางตะวันตก (behind, aft, after, afterwards, back; westward)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉา : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ภายหลัง, เบื้องหลัง, ข้างหลัง. (ป.).”

(3) “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(๑) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภชฺ + = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ” 

(๒) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น (ภุ > ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภุชฺ + = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน” 

ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง) 

บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”

บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”

การประสมคำขั้นที่ 1:

ปจฺฉา + ภตฺต = ปจฺฉาภตฺต (ปัด-ฉา-พัด-ตะ) แปลว่า (1) “ภายหลังอาหาร” (after the midday meal) (2) “อาหารที่มีผู้ถวายในภายหลัง” (food offered after, later-food) 

ในที่นี้ “ปจฺฉาภตฺต” ใช้ในความหมายที่ (2)

(4) ปจฺฉาภตฺต + อิก = ปจฺฉาภตฺติก (ปัด-ฉา-พัด-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้ฉันอาหารที่มีผู้ถวายในภายหลัง

การประสมคำขั้นที่ 2:

ขลุ + ปจฺฉาภตฺติก = ขลุปจฺฉาภตฺติก (ขะ-ลุ-ปัด-ฉา-พัด-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้ไม่ฉันอาหารที่มีผู้ถวายในภายหลัง” หรือ “ผู้ห้ามภัตที่เขานำมาถวายในภายหลัง

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

ขลุปจฺฉาภตฺติก + องฺค = ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺค (ขะ-ลุ-ปัด-ฉา-พัด-ติ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการห้ามภัตที่เขานำมาถวายในภายหลัง” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการไม่ฉันอาหารที่มีผู้ถวายในภายหลัง

ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ขลุปัจฉาภัตติกังคะ” 

ขยายความ :

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 7 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “ขลุปัจฉาภัตติกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่รับ, คำสมาทานว่า “อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดโภชนะอันเหลือเฟือ สมาทานองค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง” (ข้อ ๗ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “ขลุปัจฉาภัตติกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 7 ไว้ดังนี้ –

…………..

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต คำสมาทานว่า “อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดโภชนะอันเหลือเฟือ สมาทานองค์แห่งผู้—” — Khalupacchābhattikaṅga: later-food-refuser’s practice)

…………..

ธุดงค์ข้อนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งใจรักษาสุขภาพด้วยวิธีคุมอาหาร 

การคุมอาหารที่ทำกันมักคุมชนิดของอาหาร คือ ไม่กินสิ่งนี้ ต้องกินสิ่งนั้น แต่ธุดงค์นี้เป็นการคุมอาหารด้วยวิธีกำหนดปริมาณอาหาร

วิธีปฏิบัติที่ได้ผลดีคือ กำหนดปริมาณอาหารที่จะกินในแต่ละมื้อ เช่นตักข้าวใส่จานเท่านี้ กับข้าวเท่านี้ ขนมเท่านี้ ผลไม้เท่านี้ แล้วกินเท่าที่ตักมาหรือเท่าที่กำหนดไว้ หมดแล้วหมดเลย ไม่เพิ่ม ไม่เติม ปฏิบัติอย่างนี้อย่างเคร่งครัด

ทำได้อย่างนี้ นั่นคือปฏิบัติตามธุดงค์ข้อ “ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักดี ก็จะพอ

: รู้จักพอ ก็จะดี

#บาลีวันละคำ (4,116)

19-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *