อารัญญิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 8 (บาลีวันละคำ 4,117)
อารัญญิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 8
พระเกิดจากป่า
จึงมีพระถอยกลับเข้าไปอยู่ในป่า
…………..
ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –
1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้
13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร
…………..
“อารัญญิกังคะ” อ่านว่า อา-รัน-ยิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า อารัญญิก + อังคะ
(๑) “อารัญญิก”
เขียนแบบบาลีเป็น “อารญฺญิก” อ่านว่า อา-รัน-ยิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า อารญฺญ + ณิก ปัจจัย
(ก) “อารญฺญ” รูปคำเดิมเป็น “อรญฺญ” อ่านว่า อะ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย
: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ญ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ
: อรฺ + ญฺ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน”
(3) น (ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง น เป็น อ, รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ
: น + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา”
“อรญฺญ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ป่า (forest)
บาลี “อรญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อรัญ” และใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อรัณย์” ด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อรัญ, อรัญ– : (คำนาม) ป่า. (ป. อรญฺญ; ส. อรณฺย).
(2) อรัณย์ : (คำนาม) ป่า. (ส. อรณฺย; ป. อรญฺญ).
(ข) อรญฺญ + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ อ-(รญฺญ) เป็น อา (อรญฺญ > อารญฺญ) “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: อรญฺญ + ณิก = อรญฺญณิก > อรญฺญิก > อารญฺญิก แปลว่า “ผู้อยู่ในป่า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อารญฺญิก” ว่า belonging to solitude or the forest, sequestered; living in the forest, fond of seclusion, living as hermits (ผู้อยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่ในป่า, ผู้สันโดษ; ผู้มีปกติอยู่ในป่า, ผู้ชอบแยกตัวอยู่ต่างหาก, ผู้อยู่อย่างนักพรต)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อารัญญิก” ซึ่งมาจากบาลีว่า “อารญฺญิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“อารัญญิก, อารัณยกะ ๑ : (คำวิเศษณ์) เกี่ยวกับป่า, เกิดในป่า, มีในป่า. (ป. อารญฺก; ส. อารณฺยก).”
(๒) “อังคะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
อารญฺญิก + องฺค = อารญฺญิกงฺค (อา-รัน-ยิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร
“อารญฺญิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อารัญญิกังคะ”
ขยายความ :
“อารัญญิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 8 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “อารัญญิกังคะ” ไว้ดังนี้
…………..
(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ
(2) อารัญญิกังคะ : องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่า คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน แต่อยู่ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น, คำสมาทานว่า “คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานองค์แห่งผู้ถืออยู่ป่า” (ข้อ ๘ ใน ธุดงค์ ๑๓)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “อารัญญิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 8 ไว้ดังนี้ –
…………..
8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น คำสมาทานว่า “คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานองค์แห่งผู้—” — Āraññikaṅga: forest-dweller’s practice)
…………..
มีคำกล่าวว่า “พระเกิดจากป่า” ขยายความว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมในป่า ผู้มีศรัทธาออกบวชตามก็คือออกจากบ้านเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน อาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ แต่ปฏิบัติธรรมดำรงชีพอยู่ในป่า ป่าจึงเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของพระ
เมื่อเกิดวิถีชีวิตพระแบบ “อรัญวาสี” = พระป่า “คามวาสี” = พระบ้าน ขึ้นในพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตสงฆ์ก็เริ่มผันแปร คือแม้จะออกจากบ้านเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน แม้จะอยู่ในอารามซึ่งไม่ใช่บ้านเรือน แต่อิทธิพลของบ้านเรือนก็ค่อยๆ ครอบงำ ดังที่ปรากฏว่า ในบ้านเรือนมีสิ่งใด ในอารามก็มีสิ่งนั้น ชาวบ้านมีสิ่งใด ชาววัดก็มีสิ่งนั้น วิถีชีวิตของผู้ไม่มีบ้านเรือนก็ค่อยๆ หวนกลับเข้าไปหาวิถีชีวิตแบบผู้มีบ้านเรือนมากขึ้นทุกที
การถือธุดงค์ข้อ “อารัญญิกังคะ” ก็คือการถอยกลับไปหาวิถีชีวิตดั้งเดิมของพระ-ผู้ไม่มีบ้านเรือนนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?
: ชาวบ้านทำบ้านให้เป็นวัด
: ชาววัดทำวัดให้เป็นบ้าน
#บาลีวันละคำ (4,117)
20-9-66
…………………………….
…………………………….