บาลีวันละคำ

อัพโภกาสิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 10 (บาลีวันละคำ 4,119)

อัพโภกาสิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 10

นอนกลางดินตัวจริง

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

อัพโภกาสิกังคะ” อ่านว่า อับ-โพ-กา-สิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า อัพโภกาสิก + อังคะ

(๑) “อัพโภกาสิก

เขียนแบบบาลีเป็น “อพฺโภกาสิก” อ่านว่า อับ-โพ-กา-สิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า อพฺโภกาส + อิก ปัจจัย

(ก) “อพฺโภกาส” อ่านว่า อับ-โพ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก อภิ + โอกาส 

(1) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(2) “โอกาส” บาลี อ่านว่า โอ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + กสฺ (ธาตุ = ไถ) + (ปัจจัย), แปลง อว เป็น โอ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (กสฺ > กาส )

: อว + กสฺ = อวกสฺ + = อวกสณ > อวกส > อวกาส > โอกาส แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง” 

อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “โอกาส” 

โอกาส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ทัศนวิสัย, ระยะที่เห็นได้ (ศัพท์เรขาคณิต), ที่ว่าง, บรรยากาศ, อวกาศ (visibility, visible space [as geometrical term], open space, atmosphere, air as space) 

(2) การมองเห็นได้, รูปร่าง (visibility, appearance) 

(3) โอกาส, วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม, มติ (occasion, chance, opportunity, permission, consent, leave) 

(4) มองดูเหมือน, ดูปรากฏว่า (looking like, appearing) (ใช้เป็นคุณศัพท์)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอกาส : (คำนาม) ช่อง, ทาง; เวลาที่เหมาะ, จังหวะ. (ป.; ส. อวกาศ).”

โอกาส” เป็นคำบาลี ภาษาไทยใช้ตามรูปคำบาลี จึงต้องสะกดเป็น “โอกาส” (กา เสือ) ไม่ใช่ “โอกาศ” (-กา ศาลา) เพราะบาลีไม่มี ศาลา

บาลีมี “โอกาส” สันสกฤตไม่มี “โอกาศ” (-กา ศาลา) แต่มี “อวกาศ” (-กา ศาลา) ใช้ในความหมายเดียวกับ “โอกาส” ของบาลี 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่คำว่า “อวกาศ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อวกาศ : (คำนาม) โอกาศ; ที่เก็บ; opportunity; a repository.”

โปรดสังเกตว่า ในคำแปลของ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ยังสะกด “โอกาส” (กา เสือ) เป็น “โอกาศ” (-กา ศาลา) แสดงให้เห็นว่าในภาษาไทยน่าจะเคยสะกดเป็น “โอกาศ” กันมาแต่เดิม

ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “อวกาศ” ตามความหมายเฉพาะดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อวกาศ : (คำนาม) บริเวณที่อยู่นอกบรรยากาศของโลก. (ส.).”

ความจริงในบาลีก็มีรูปคำ “อวกาส” เหมือนสันสกฤต นั่นคือคำนี้บาลีมีทั้ง “โอกาส” และ “อวกาส” (สันสกฤตมีเฉพาะ “อวกาศ”) 

อวกาส” (อะ-วะ-กา-สะ) ในบาลีมีรากศัพท์แบบเดียวกับ “โอกาส” เพียงแต่คงรูปนิบาต “อว” ไว้ตามเดิม ไม่แปลงเป็น “โอ” และในบาลีนิยมใช้รูป “โอกาส” มากกว่า “อวกาส” 

อวกาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การปรากฏขึ้น (appearance) 

(2) โอกาส (opportunity)

อภิ + โอกาสฺ แปลง อภิ เป็น อพฺภ 

: อภิ > อพฺภ + โอกาสฺ = อพฺโภกาสฺ แปลว่า “ที่ว่างอย่างยิ่ง” หมายถึง กลางแจ้ง, ที่โล่งและไม่มีที่กำบัง (the open air, an open & unsheltered space)

(ข) อพฺโภกาส + อิก = อพฺโภกาสิก (อับ-โพ-กา-สิ-กะ) แปลว่า “ผู้อยู่ที่กลางแจ้ง

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

อพฺโภกาสิก + องฺค = อพฺโภกาสิกงฺค (อับ-โพ-กา-สิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในที่แจ้ง” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการอยู่ในที่กลางแจ้ง

อพฺโภกาสิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัพโภกาสิกังคะ” 

ขยายความ :

อัพโภกาสิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 10 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “อัพโภกาสิกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) อัพโภกาสิกังคะ : องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้ง คืออยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน), คำสมาทานว่า “ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานองค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้ง” (ข้อ ๑๐ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “อัพโภกาสิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 10 ไว้ดังนี้ –

…………..

10. อัพโภกาสิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานองค์แห่งผู้—” — Abbhokāsikaṅga: open-air-dweller’s practice)

…………..

อนคาริยภาวสฺส

อนุรูเป อทุลฺลเภ 

ตารามณิวิตานมฺหิ

จนฺททีปปฺปภาสิเต 

ที่กลางแจ้งหาได้ไม่ยาก

สมควรแก่ภาวะแห่งอนาคาริยชน

มีมณีคือดวงดาวดาดเป็นเพดาน

มีประทีปคือดวงจันทร์ส่องสว่าง

อพฺโภกาเส วสํ ภิกฺขุ

มิคภูเตน เจตสา 

ถีนมิทฺธํ วิโนเทตฺวา

ภาวนารามตํ สิโต. 

ภิกษุผู้อยู่ที่กลางแจ้ง

มีใจไม่ติดในสถานที่ดุจใจมฤค (ซึ่งนอนไหนก็ได้)

บรรเทาความง่วงเหงาหาวนอน

อยู่ด้วยใจยินดีในการปฏิบัติธรรม

ปวิเวกรสสฺสาทํ

นจิรสฺเสว วินฺทติ 

ยสฺมา ตสฺมา หิ สปฺปญฺโญ

อพฺโภกาเส รโต สิยาติ.

ไม่ช้าเลยก็จะได้ประสบ –

รสอร่อยแห่งความสงบสงัด

ด้วยเหตุดังว่านี้ ผู้มีปัญญา –

พึงเป็นผู้ยินดีในอัพโภกาส เทอญ

ที่มา: วิสุทธิมรรค ภาค 1 ธุดงคนิเทส หน้า 95

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไปนิพพานไม่แพง

: นอนกลางแจ้งก็ไปได้เลย

#บาลีวันละคำ (4,119)

22-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *