บาลีวันละคำ

สัพเพ ยักขา ปะลายันติ (บาลีวันละคำ 4,126)

สัพเพ ยักขา ปะลายันติ

เขียนแบบบาลีเป็น สพฺเพ ยกฺขา ปลายนฺติ 

อ่านว่า สับ-เพ ยัก-ขา ปะ-ลา-ยัน-ติ

มีคำบาลี 3 คำ คือ “สพฺเพ” คำหนึ่ง “ยกฺขา” คำหนึ่ง “ปลายนฺติ” คำหนึ่ง

(๑) “สพฺเพ

รูปคำเดิมเป็น “สพฺพ” (สับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง เป็น , แปลง รฺ ที่ สรฺ เป็น พฺ (สรฺ > สพฺ)

: สรฺ + = สรฺว > สรฺพ > สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

(2) สพฺพฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: สพฺพฺ + = สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

สพฺพ” (คุณศัพท์) หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)

(๒) “ยกฺขา” 

รูปคำเดิมเป็น “ยกฺข” (ยัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, แปลง ตฺ ที่สุดธาตุเป็น กฺ (ยตฺ > ยกฺ)

: ยตฺ + = ยตฺข > ยกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พยายามเพื่อนำมาซึ่งพลีกรรม

(2) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น กฺ (ยชฺ > ยกฺ)

: ยชฺ + = ยชฺข > ยกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันชาวโลกบูชา

ยกฺข” (ปุงลิงค์) ในบาลี ความหมายโดยตรงเป็นชื่อของอมนุษย์บางจำพวก, เช่น ผี, ผีปอบ, รากษส, นางไม้, ปีศาจคะนอง (name of certain non-human beings, as spirits, ogres, dryads, ghosts, spooks) แต่ในที่บางแห่งใช้ในความหมายโดยนัย หมายถึง เทวดา, ท้าวสักกะ, พระขีณาสพ

บาลี “ยกฺข” สันสกฤตเป็น “ยกฺษ” เราใช้ตามสันสกฤตเป็น “ยักษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยักษ์ : (คำนาม) อมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดําอํามหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้จําแลงตัวได้, บางทีใช้ปะปนกับคําว่า อสูร รากษส และมาร ก็มี; เทวดาพวกหนึ่งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกและชั้นปรนิมมิตวสวัตดี; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ศตภิษัช มี ๔ ดวง, ดาวพิมพ์ทอง หรือ ดาวสตะภิสชะ ก็เรียก. (คำวิเศษณ์) โดยปริยายหมายความว่า มีลักษณะหรืออาการอย่างยักษ์ เช่น ใจยักษ์ หน้ายักษ์, มีลักษณะใหญ่เป็นพิเศษในพวก เช่น ปลาหมึกยักษ์. (ส. ยกฺษ ว่า อมนุษย์พวกหนึ่ง บริวารท้าวเวสวัณ; ป. ยกฺข).”

(๓) “ปลายนฺติ” 

อ่านว่า ปะ-ลา-ยัน-ติ เป็นศัพท์กิริยาอาขยาต (อาขยาต: ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน) รากศัพท์มาจาก ปลายฺ (ธาตุ = หนีไป) + (อะ) ปัจจัย + อนฺติ วิภัตติอาขยาต หมวดวัตตมานา พหุวจนะ ปฐมบุรุษ

: ปลายฺ + + อนฺติ = ปลายนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมหนีไป” (to run away)

หมายเหตุ: “ปลายนฺติ” ตำราไวยากรณ์บาลีแสดงรากศัพท์ไว้หลายนัย ที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นนัยหนึ่งเท่านั้น

แต่มีนัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รากศัพท์มาจาก ปรา (คำอุปสรรค = กลับความ) + อยฺ (ธาตุ = ไป) + (อะ) ปัจจัย + อนฺติ วิภัตติอาขยาต, แปลง ที่ ปรา เป็น (ปรา > ปลา)

: ปรา + อยฺ = ปรายฺ + + อนฺติ = ปรายนฺติ > ปลายนฺติ รากศัพท์ตามที่แสดงนี้ต้องแปลว่า “ย่อมมา” เพราะ อยฺ ธาตุ = ไป ปรา = กลับความ จาก “ไป” ต้องกลับความเป็น “มา” แต่ทั้งนี้อาจมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่นได้อีก ผู้สนใจพึงศึกษาสืบค้นต่อไป

ขยายความตามหลักภาษา :

(๑) “สพฺพ” เป็นคุณศัพท์ ขยายคำว่า “ยกฺขา” (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนะ”) ซึ่งเป็น ปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ ปุงลิงค์ “สพฺพ” แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สพฺเพ

(๒) “ยกฺข” เป็นประธานในประโยค แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ยกฺขา

(๓) ประกอบคำเข้าเป็นประโยค: “สพฺเพ ยกฺขา ปลายนฺติ” 

(๔) แปล:

ยกฺขา = อันว่ายักษ์ทั้งหลาย

สพฺเพ = ทั้งปวง 

ปลายนฺติ = ย่อมหนีไป

สพฺเพ ยกฺขา ปลายนฺติ = ยักษ์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมหนีไป 

อภิปราย :

สพฺเพ ยกฺขา ปลายนฺติ” เป็นข้อความตอนหนึ่งใน “คาถาเงินล้าน” ที่มีผู้นิยมนับถือกันอย่างกว้างขวาง แต่ข้อความที่เผยแพร่ทั่วไปมักเขียนเป็น “สพฺเพยกฺขา ปรายนฺติ

ข้อสังเกต คือ

(1) “สพฺเพยกฺขา” เขียนติดกัน ไม่ถูกหลักนิยมในการเขียนภาษาบาลี “สพฺเพ” เป็นคำหนึ่ง “ยกฺขา” เป็นอีกคำหนึ่ง ไม่ใช่คำเดียวกัน ต้องเขียนแยกกันเป็น “สพฺเพ  ยกฺขา

ภาษาบาลีเขียนแยกเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ 

สพฺเพยกฺขา” เหมือนเขียนภาษาอังกฤษว่า Allofgiants 

สพฺเพ  ยกฺขา” เหมือนเขียนภาษาอังกฤษว่า All of giants 

(2) “ปรายนฺติ” ปรา- ใช้ ร เรือ ไม่มีรูปคำเช่นนี้ในภาษาบาลี คำว่า “ย่อมหนีไป” ภาษาบาลีเป็น “ปลายนฺติ” ปลา- ใช้ ล ลิง

รากศัพท์นัยหนึ่งของ “ปลายนฺติ” มาจาก ปรา– บทหน้าก็จริง (ดูข้างต้น) แต่รูปสำเร็จแปลง เป็น ทั้งนั้น ไม่มีที่เป็น “ปรายนฺติ” ในที่ไหนๆ เลย คัมภีร์บาลีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้ค้นคว้า ไม่พบคำว่า “ปรายนฺติ” หรือ “ปรายติ” (ร เรือ) แต่ที่เป็น “ปลายนฺติ” หรือ “ปลายติ” (ล ลิง) พบได้ทั่วไป

…………..

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของท่านผู้นิยมนับถือคาถาต่างๆ ก็คือ ครูบาอาจารย์เขียนอย่างนี้ สะกดอย่างนี้ ต้องคงไว้ตามนี้ ถ้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงถือว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ บางทีก็บอกว่า ถ้าแก้เป็นอย่างอื่น คาถาจะไม่ขลัง

ท่านที่นับถือคาถาใดๆ เขียนอย่างไร สะกดอย่างไร โปรดนับถือเช่นนั้นต่อไปได้ด้วยความสบายใจเถิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความประสงค์จะให้ท่านผู้ใดสำนักไหนแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ท่านเคารพนับถือแต่ประการใดทั้งสิ้น เพียงแต่ทำหน้าที่เสนอความรู้หลักภาษาบาลีตามที่ครูบาอาจารย์ (เช่นกัน) สั่งสอนมา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่องคาถาผิด พลังจิตก็เกิดได้

: ท่องคาถาไม่ผิด พลังจิตยิ่งเกรียงไกร

#บาลีวันละคำ (4,126)

29-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *