บาลีวันละคำ

สำนวนอุปมาชั้นครู (บาลีวันละคำ 4,127)

สำนวนอุปมาชั้นครู

ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกมีสำนวนอุปมาหลากหลาย แต่ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “สำนวนอุปมาชั้นครู” คือสำนวนนี้ –

…………..

(ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ -)

เสยฺยถาปิ  โภ  โคตม  นิกฺกุชฺชิตํ  วา  อุกฺกุชฺเชยฺย  

เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ

ปฏิจฺฉนฺนํ  วา  วิวเรยฺย  

เปิดของที่ปิด

มูฬฺหสฺส  วา  มคฺคํ  อาจิกฺเขยฺย  

บอกทางแก่คนหลงทาง

อนฺธกาเร  วา  เตลปชฺโชตํ  ธาเรยฺย  จกฺขุมนฺโต  รูปานิ  ทกฺขนฺตีติ

หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้

ที่มา: เวรัญชกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 4 เป็นต้น

…………..

ขยายความ :

คำบาลีที่เป็นคำหลัก คือ –

(1) นิกฺกุชฺชิตํ  อุกฺกุชฺเชยฺย (นิกกุชชิตัง อุกกุชเชยยะ)

นิกฺกุชฺชิตํ” แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาคว่ำลง” หมายถึง ภาชนะที่คว่ำไว้ คือปากหรือหน้าอยู่ด้านล่าง ไม่พร้อมที่จะใส่หรือบรรจุสิ่งใดๆ ลงไป

อุกฺกุชฺเชยฺย” เป็นคำกิริยาอาขยาต แปลว่า “พึงหงายขึ้น” (set upright) 

(2) ปฏิจฺฉนฺนํ  วิวเรยฺย (ปะฏิจฉันนัง วิวะเรยยะ)

ปฏิจฺฉนฺนํ” แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาปกปิดไว้” หมายถึง สิ่งที่ถูกปิด ถูกบัง หรือถูกซ่อนไว้ ทำให้มองไม่เห็นว่าสิ่งนั้นคืออะไร

วิวเรยฺย” เป็นคำกิริยาอาขยาต แปลว่า “พึงเปิด” (make clear)

(3) มูฬฺหสฺส  มคฺคํ  อาจิกฺเขยฺย (มูฬหัสสะ มัคคัง อาจิกเขยยะ)

มูฬฺหสฺส” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หลงแล้ว” หมายถึง คนหลงทางหรือหลงทิศ ไม่รู้ว่าเป้าหมายที่ต้องการไปอยู่ทางไหน

มคฺคํ” แปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งทาง

อาจิกฺเขยฺย” เป็นคำกิริยาอาขยาต แปลว่า “พึงบอก” (tell, relate, show, describe, explain)

(4) อนฺธกาเร  เตลปชฺโชตํ  ธาเรยฺย  จกฺขุมนฺโต  รูปานิ  ทกฺขนฺตีติ (อันธะกาเร เตลัปปัชโชตัง ธาเรยยะ จักขุมันโต รูปานิ ทักขันตีติ)

แปลโดยพยัญชนะดังนี้ –

(ปุคฺคโล = อันว่าบุคคล)

ธาเรยฺย = พึงทรงไว้

เตลปชฺโชตํ = ซึ่งวัตถุอันลุกโพลงด้วยน้ำมัน (คบเพลิงหรือตะเกียง)

(เตลปชฺโชตํ  ธาเรยฺย = ส่องไฟ) 

อนฺธกาเร = ในที่มืด

(ด้วยความตั้งใจ) ว่า –

จกฺขุมนฺโต = อันว่าบุคคลผู้มีดวงตาทั้งหลาย (คือตาไม่บอด)

ทกฺขนฺติ = จักเห็น (perceive)

รูปานิ = ซึ่งวัตถุอันเห็นได้ด้วยตา

= ส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป

…………..

อุปมาดังแสดงมานี้ ใช้ในกรณีที่ได้ฟังคำบรรยายหรือคำชี้แจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย ผู้ฟังก็จะชื่นชมผู้พูดด้วยคำอุปมาสำนวนนี้ –

…………..

นิกฺกุชฺชิตํ  อุกฺกุชฺเชยฺย = เหมือนหงายของที่คว่ำ

ปฏิจฺฉนฺนํ  วิวเรยฺย = เหมือนเปิดของที่ปิด

มูฬฺหสฺส  มคฺคํ  อาจิกฺเขยฺย = เหมือนบอกทางแก่คนหลง

อนฺธกาเร  เตลปชฺโชตํ  ธาเรยฺย  จกฺขุมนฺโต  รูปานิ  ทกฺขนฺตีติ = เหมือนส่องไฟในที่มืดให้คนมองเห็น

…………..

ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลี อ่านภาษาไทยเพื่อการศึกษา ส่วนภาษาบาลีอ่านพอเป็นอุปนิสัยปัจจัย เพียงเท่านี้ก็นับว่าได้ประโยชน์พอสมควรแก่การย์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของมนุษย์

: แม้จะเป็นสิ่งสมมุติก็ควรใช้ให้ถูกต้องดีงาม

#บาลีวันละคำ (4,127)

30-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *