บาลีวันละคำ

หน้าปัด ไม่ใช่ หน้าปัทม์ (บาลีวันละคำ 4,132)

หน้าปัด ไม่ใช่ หน้าปัทม์

คำเรียกแผ่นหน้าของนาฬิกา ที่ออกเสียงว่า น่า-ปัด สะกดว่า “หน้าปัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

หน้าปัด : (คำนาม) แผ่นที่มีตัวเลขหรือสัญลักษณ์แสดงเวลาหรือปริมาณเป็นต้น เช่น หน้าปัดนาฬิกา หน้าปัดวิทยุ หน้าปัดมาตรวัดนํ้า.”

คำว่า “หน้าปัด” เป็นลูกคำของคำว่า “หน้า

คำว่า “หน้า” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

หน้า :

(๑) น. ส่วนของศีรษะตั้งแต่หน้าผากลงมาจดคาง

(๒) น. ซีกของกายที่ตรงข้ามกับหลัง, ด้านของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับสายตาของเราหรือด้านที่เผชิญหน้ากับสายตาของเรา เช่น เขาวิ่งอยู่หน้าฉัน จึงเห็นแต่หลังเขาไว ๆ

(๓) น. ส่วนบนของบางสิ่ง เช่น หน้าขนม ข้าวเหนียวหน้าสังขยา หน้าปกหนังสือ

(๔) น. เครื่องปรุงที่แต่งหรือโรยบนอาหารบางอย่าง เช่น กระเทียมเจียวโรยหน้าข้าวต้ม

(๕) น. ด้านหนึ่ง ๆ ของวัตถุแบน ๆ อย่างกระดาษ เช่น หน้ากระดาษ หน้าซอง, ด้านของเครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง เช่น หน้ากลอง, ด้านหนึ่ง ๆ ของลูกเต๋าและนํ้าเต้าซึ่งมี ๖ ด้าน

(๖) น. ส่วนกว้างของแผ่นกระดาน เสาเหลี่ยม หรือผืนผ้า เป็นต้น

(๗) น. ชายผ้าบางชนิดที่มีลวดลาย, ด้านของผ้าที่มีลวดลายชัดกว่า

(๘) น. คราว เช่น เมื่อข้าวสุกแล้วก็ถึงหน้าเก็บเกี่ยว, ฤดู เช่น หน้าฝน หน้าทุเรียน

(๙) น. โดยปริยายหมายถึงคน เช่น เขาสู้ทุกคนไม่ว่าหน้าไหน

(๑๐) น. เกียรติและศักดิ์ศรี เช่น เห็นแก่หน้า ไม่ไว้หน้า

(๑๑) น. ลักษณนามบอกจำนวนด้านของแผ่นกระดาษ เช่น หนังสือเล่มนี้มี ๒๐๐ หน้า.

(๑๒) ว. ถัดไป เช่น อาทิตย์หน้า ฉบับหน้า

(๑๓) ว. ตรงข้ามกับ หลัง (ใช้แก่เวลาที่ยังมาไม่ถึง) เช่น วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า, อยู่ตรงข้ามกับข้างหลัง เรียกว่า ข้างหน้า.

น. = คำนาม

ว. = คำวิเศษณ์

ขยายความ :

คำที่ออกเสียงว่า น่า-ปัด เช่น หน้าปัดนาฬิกา ยังมีคนจำนวนมากสะกดเป็น “หน้าปัทม์” 

น่าสงสัยว่า ไปเอาคำว่า “หน้าปัทม์” หรือเข้าใจว่าเป็น “หน้าปัทม์” มาจากไหน?

“หน้า” หมายความว่าอย่างไร ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น 

แล้ว “ปัทม์” หมายถึงอะไร?

ปัทม์” ถ้าสะกดอย่างนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัทม-, ปัทม์ : (คำนาม) ชื่อบัวหลวงพันธุ์หนึ่ง. (ดู บัว). (ส. ปทฺม; ป. ปทุม).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปัทม-” หรือ “ปัทม์” สันสกฤตเป็น “ปทฺม” บาลีเป็น “ปทุม

ปทุม” บาลีอ่านว่า ปะ-ทุ-มะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อุม ปัจจัย

: ปทฺ + อุม = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่ถึงการบูชาเทวดาเป็นต้น” 

(2) (แทนศัพท์ว่า “ปงฺก” = ตม) + ทุ (ธาตุ = งอกงาม, เจริญ) + ปัจจัย

: + ทุ = ปทุ + = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่งอกงามในตม” 

(3) (แทนศัพท์ว่า “ปฐม” = ที่หนึ่ง, ทีแรก; ปธาน” = หัวหน้า, ประธาน ) + ทุม (ต้นไม้

: + ทุม = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ต้นแรก” “ต้นไม้ที่เป็นประธาน” 

ปทุม” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) หมายถึง ดอกบัว, บัวหลวง (the lotus Nelumbium speciosum)

บาลี “ปทุม” สันสกฤตเป็น “ปทฺม

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ปทฺม : (คำนาม) ‘ปัทมะ,’ บัว, ธนหรือมณีของกุเวร; เลขจำนวนใหญ่, สิบขรรพะ; ตะกั่ว; พระลักษมึ; a lotus; one of Kuvera’s treasures or gems; a large number, ten billions; lead; the goddess Lakshmi.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปทุม : (คำนาม) บัวหลวง, บัวก้าน. (ป.; ส. ปทฺม).”

ข้อสังเกต :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดคำนี้เป็น “ปทุม” และไม่มีคำที่สะกดเป็น “ประทุม” เดี่ยวๆ 

คำที่สะกดเป็น “ประทุม” มีแต่คำว่า “ประทุมราค” (แปลว่า พลอยสีแดง, ทับทิม) คำเดียวเท่านั้น

…………..

สรุปก็คือ “หน้าปัด” มี เขียนอย่างนี้

แต่ “หน้าปัทม์” ไม่มี อย่าเขียนอย่างนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่านจะสอนลูกท่านให้ฉลาด –

ในการแก้ไขผิดให้เป็นถูก

: หรือท่านจะสอนลูกท่านให้ฉลาด –

ในการอธิบายผิดให้เป็นถูก

#บาลีวันละคำ (4,132)

5-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *