ราตรีสวัสดิ์ (บาลีวันละคำ 4,239)
ราตรีสวัสดิ์
แปลเป็นบาลี
อ่านว่า รา-ตฺรี-สะ-หฺวัด
ประกอบด้วยคำว่า ราตรี + สวัสดิ์
(๑) “ราตรี”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “รตฺติ” อ่านว่า รัด-ติ รากศัพท์มาจาก –
(1) รา (ธาตุ = ถือเอา) + ติ ปัจจัย, ลบ อา ที่สุดธาตุ (รา > ร), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (รา + ตฺ + ติ)
: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ถือเอาความไม่เบียดเบียน” (คือโดยปกติเป็นเวลาพักผ่อน หยุดการงาน จึงไม่มีใครทำอะไรแก่ใคร)
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = กำหนัด, ยินดี) + ติ ปัจจัย, ลบ (ร)-ญฺชฺ ที่สุดธาตุ (รญฺช > ร), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (รญฺช + ตฺ + ติ)
: รญฺชฺ + ตฺ + ติ = รญฺชตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้มีความกำหนัด”
(3) รา (แทนศัพท์ “สทฺท” = เสียง) + ติ (ธาตุ = ตัด, ขาด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบ อา ที่ รา (รา > ร), ซ้อน ตฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (รา + ตฺ + ติ)
: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ + กฺวิ = ราตฺติกฺวิ > ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่ขาดหายแห่งเสียง”
(4) รา (แทนศัพท์ “ธน” = ทรัพย์) + ติ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบ อา ที่ รา (รา > ร), ซ้อน ตฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (รา + ตฺ + ติ)
: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ + กฺวิ = ราตฺติกฺวิ > ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่แตกไปแห่งทรัพย์” (คือถูกขโมยไป)
“รตฺติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง กลางคืน (night)
บาลี “รัตติ” สันสกฤตเป็น “ราตฺริ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ราตฺริ : (คำนาม) ราตรี; night.”
“รตฺติ” ภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “ราตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราตรี ๑ : (คำนาม) กลางคืน, เวลามืดคํ่า. (ส. ราตฺริ; ป. รตฺติ).”
(๒) “สวัสดิ์”
บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อตฺถิ ( = มี, เป็น)
(1) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + ติ > ตฺถิ : อ + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
(2) สุ + อตฺถิ :
สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + ว (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + ว + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)
(ลองออกเสียง สุ–อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ”
สุ–อตฺถิ = สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)
หมายเหตุ :
สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ
: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ สุวตฺถิ
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สวัสดิ์” “สวัสดี”
ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).”
ราตรี + สวัสดิ์ = ราตรีสวัสดิ์
“ราตรีสวัสดิ์” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า good night แปลว่า กลางคืนดี นิยมใช้เป็นคำลาตอนกลางคืน
อภิปรายขยายความ :
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า good night ไว้ แต่มีคำว่า good morning และ good evening
good morning แปลเป็นบาลีว่า suppabhātaŋ สุปฺปภาตํ (สุบ-ปะ-พา-ตัง) = รุ่งสว่างดี
good evening แปลเป็นบาลีว่า susañjhā สุสญฺฌา (สุ-สัน-ชา) = ยามเย็นดี
ถ้าเทียบตามนี้ good night ก็ควรเป็น “สุรตฺติ” (สุ-รัด-ติ) = กลางคืนดี > ราตรีดี > ราตรีสวัสดิ์
แถม :
คำบาลีที่หมายถึงเวลาดี ยามดี ที่เราคุ้นกันดีก็คือข้อความตอนหนึ่งในชัยมงคลคาถา หรือชยปริตร ที่มักเรียกรู้กันสั้น ๆ ว่า “มหากา” มีกล่าวถึงเวลาดี ยามดี หลายคำ ดังนี้
…………..
สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ
สุปฺปภาตํ สุหุฏฺฐิตํ
สุขโณ สุมุหุตฺโต จ
สุยิฏฺฐํ พฺรหฺมจาริสุ.
…………..
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
เวลาที่ประพฤติชอบ ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี
สุปปะภาตัง สุหุฏฐิตัง
สว่างดี รุ่งดี
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ
แลขณะดี ครู่ดี
สุยิฏฐัง พ๎รัห๎มะจาริสุ
บูชาแล้วดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำดี พูดดี คิดดีต่อกัน
: ไม่ว่าจะเป็นกลางคืนหรือกลางวัน ดีตลอดกาล
#บาลีวันละคำ (4,239)
20-1-67
…………………………….
…………………………….