นิพัทธุปัฏฐาก (บาลีวันละคำ 4,136)
นิพัทธุปัฏฐาก
ผู้รับใช้ที่เป็นไม่ได้ง่ายๆ
อ่านว่า นิ-พัด-ทุ-ปัด-ถาก
ประกอบด้วยคำว่า นิพัทธ + อุปัฏฐาก
(๑) “นิพัทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “นิพทฺธ” อ่านว่า นิ-พัด-ทะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + พทฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ
: นิ + พทฺ = นิพทฺ + ต = นิพทฺต > นิพทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผูกเข้าไว้แล้ว”
“นิพทฺธ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) ตรึงตรา, มั่นคง, แน่นอน (fixed, stable, sure)
(2) ซึ่งขอ, เร่งเร้า, กระตุ้น (asked, pressed, urged)
(3) เป็นเนืองนิตย์, เสมอ, เรื่อยไป, เป็นประจำ (constantly, always, continually)
บาลี “นิพทฺธ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิพัทธ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “นิพัทธ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิพัทธ-, นิพัทธ์ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เนือง ๆ, เสมอ, เนื่องกัน. (ป.).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
(๒) “อุปัฏฐาก”
เขียนแบบบาลีเป็น “อุปฏฺฐาก” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-กะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ฏฺ + ฐา)
: อุป + ฏฺ + ฐา = อุปฏฺฐา + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐาก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เข้าไปยืน (รับใช้)” “ผู้ยืนใกล้” หมายถึง ผู้อุปัฏฐาก, ผู้รับใช้, ผู้ปรนนิบัติ (“famulus”, a servitor, personal attendant, servant)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปัฏฐาก : (คำนาม) ผู้อุปถัมภ์บํารุงพระภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นหญิงใช้ อุปัฏฐายิกา. (ป.).”
“อุปัฏฐายิกา” บาลีเขียน “อุปฏฺฐายิกา” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-ยิ-กา คือ อุปฏฺฐา + ย อาคม + อิ อาคม + ณฺวุ > อก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุปฏฺฐา + ย + อิ = อุปฏฺฐายิ + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐายิก + อา = อุปฏฺฐายิกา แปลเหมือนกัน เปลี่ยนแต่เป็นเพศหญิง
อภิปรายแทรก :
ความหมายของ “อุปัฏฐาก” คือผู้อุปถัมภ์บํารุงพระภิกษุสามเณร ตามที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้นั้นเป็นความหมายตามรูปศัพท์ แต่โดยความเป็นจริงตามที่เป็นมาแต่เดิมนั้น อุปัฏฐากคือผู้ที่ทำหน้าที่รับใช้วัด อุทิศเวลาทำกิจทั้งปวงตามแต่วัดหรือพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ จะเรียกใช้ โดยเฉพาะกิจที่พระภิกษุสามเณรไม่สะดวกที่จะทำด้วยตนเองเช่นการรับเงินจ่ายเงินเป็นต้น ทำนองเดียวกับที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ไวยาวัจกร”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “ไวยาวัจกร” นั้นคนสมัยก่อนเรียกว่า “อุปัฏฐาก” หรือ “อุปัฏฐากวัด”
“ไวยาวัจกร” พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า “คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ”
ดูตามพจนานุกรมฯ “อุปัฏฐาก” สมัยก่อนทำหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต (คือเงิน) และดูแลทรัพย์สินของวัดด้วย รับใช้กิจทั้งปวงของวัดอีกด้วย
นั่นคือ “อุปัฏฐาก” สมัยก่อนทำงานมากกว่า “ไวยาวัจกร” สมัยนี้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุปัฏฐาก” ไว้ดังนี้ –
…………..
อุปัฏฐาก : ผู้บำรุง, ผู้รับใช้, ผู้ดูแลความเป็นอยู่, ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร; ในพุทธกาล พระเถระมากหลายรูปได้เปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพรรษาที่ ๒๐ พระอานนท์จึงได้รับหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ (อรรถกถาใช้คำเรียกว่า “นิพัทธุปัฏฐาก”) สืบมา ๒๕ พรรษา จนสิ้นพุทธกาล; อุปฐาก ก็เขียน.
…………..
นิพทฺธ + อุปฏฺฐาก = นิพทฺธุปฏฺฐาก (นิ-พัด-ทุ-ปัด-ถา-กะ) แปลว่า “ผู้รับใช้ประจำ”
“นิพทฺธุปฏฺฐาก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิพัทธุปัฏฐาก” (นิ-พัด-ทุ-ปัด-ถาก)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “นิพัทธุปัฏฐาก” ไว้ดังนี้ –
…………..
นิพัทธุปัฏฐาก : อุปัฏฐากประจำ ตามปกติ หมายถึงพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า คือพระอานนท์ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ตั้งแต่พรรษาที่ ๒๐ แห่งพุทธกิจ เป็นต้นไปจนสิ้นพุทธกาล, ก่อนพรรษาที่ ๒๐ นั้น พระเถระมากหลายรูป รวมทั้งพระอานนท์ และพระมหาสาวกทั้งปวง ได้เปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ดังบางท่านที่ปรากฏนามเพราะมีเหตุการณ์เกี่ยวข้อง เท่าที่พบ คือ พระนาคสมาละ พระอุปวาณะ พระสุนักขัตตะ พระจุนทะ พระนันทะ พระสาคตะ พระโพธิ พระเมฆิยะ.
…………..
ขยายความ :
“นิพัทธุปัฏฐาก” เป็นตำแหน่งที่สงฆ์แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ พระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์จะต้องมีพระที่ทำหน้าที่ “นิพัทธุปัฏฐาก” เสมอ เช่นเดียวกับต้องมีพระที่เป็น “อัครสาวก” คู่หนึ่งทุกพระองค์
ครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระที่เป็นนิพัทธุปัฏฐากของพระองค์มีนามว่า “สุมนะ” พระอานนท์เกิดในชาตินั้นได้เห็นพระสุมนะเป็นนิพัทธุปัฏฐาก ก็ตั้งความปรารถนาขอเป็นพระนิพัทธุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล และได้รับพยากรณ์จากพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า ความปรารถนาจะสำเร็จในศาสนาของพระโคดม คือพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
และประดานักเลือกตั้งทั้งหลาย!
: หัดรับใช้พระรูปเดียวให้ได้
: แล้วจึงค่อยไปรับใช้ประชาชน
#บาลีวันละคำ (4,136)
9-10-66
…………………………….
…………………………….