บุพกรณ์ – บุพกิจ (บาลีวันละคำ 4,137)
บุพกรณ์ – บุพกิจ
ศัพท์เทคนิคทางพระวินัย
ช่วยกันเรียนรู้ไว้-เผื่อพระท่านลืม
อ่านว่า บุบ-พะ-กอน บุบ-พะ-กิด
ประกอบด้วยคำว่า “บุพ” “กรณ์” “กิจ”
(๑) “บุพ”
บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”
ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ พ) ก็มี
“บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).
(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).
(๒) “กรณ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ร ให้แปลง น เป็น ณ
: กร + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” หมายถึง –
(1) การสร้าง, การผลิต; การทำ, การประกอบ (the making, producing of; the doing, performance of)
(2) การกระทำ, การตระเตรียม (the doing up, preparing)
(๓) “กิจ”
บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ก)-รฺ (กรฺ > ก) และ ร ที่ ริ-(จฺจ) (ริจฺจ > อิจฺจ)
: กรฺ > ก + ริจฺจ > อิจฺจ : ก + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)
“กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กิจ” (กิด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กิจ, กิจ– : (คำนาม) ธุระ, งาน. (ป. กิจฺจ).”
การประสมคำ :
๑ ปุพฺพ + กรณ = ปุพฺพกรณ (ปุบ-พะ-กะ-ระ-นะ) แปลว่า “การกระทำก่อน”
๒ ปุพฺพ + กิจฺจ = ปุพฺพกิจฺจ (ปุบ-พะ-กิด-จะ) แปลว่า “กิจที่พึงกระทำก่อน”
“ปุพฺพกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพกรณ์” (บบ-พะ-กอน)
“ปุพฺพกิจฺจ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพกิจ” (บบ-พะ-กิด)
ขยายความ :
“บุพกรณ์ – บุพกิจ” ในที่นี้ หมายถึงคำที่ปรากฏในการทำอุโบสถสังฆกรรม คือการที่พระสงฆ์ประชุมฟังภิกขุปาติโมกข์ มีคำบาลีที่สวดเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะถึงเนื้อความในตัวภิกขุปาติโมกข์ว่า –
…………..
อุโปสถกรณโต ปุพฺเพ นววิธํ ปุพฺพกิจฺจํ กาตพฺพํ โหติ.
(อุโปสะถะกะระณะโต ปุพเพ นะวะวิธัง ปุพพะกิจจัง กาตัพพัง โหติ)
แปลว่า มีบุพกิจเก้าอย่างที่จะต้องทำก่อนที่จะทำอุโบสถสังฆกรรม
…………..
“นววิธํ ปุพฺพกิจฺจํ = บุพกิจเก้าอย่าง” ท่านแจกแจงไว้ดังนี้ –
(1) ตณฺฐานสมฺมชฺชนญฺจ = ปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่
(2) ตตฺถ ปทีปุชฺชลนญฺจ = ตามประทีปโคมไฟ
(3) อาสนปญฺญปนญฺจ = ปูลาดอาสนะ
(4) ปานียปริโภชนนียูปฏฺฐปนญฺจ = จัดเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้พร้อม
(5) ฉนฺทารหานํ ภิกฺขูนํ ฉนฺทาหรณญฺจ = นำฉันทะ (ความเห็นชอบ) ของภิกษุที่ไม่ได้ร่วมประชุมมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
(6) เตสญฺเญว อกตุโปสถานํ ปาริสุทฺธิยาปิ อาหรณญฺจ = นำปาริสุทธิ (การไม่ต้องอาบัติใดๆ) ของภิกษุที่ไม่ได้ร่วมประชุมมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
(7) อุตุกฺขานญฺจ = บอกวันเดือนปี
(8) ภิกฺขุคณนา จ = นับจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม
(9) ภิกฺขุนีนโมวาโท จ – ให้โอวาทภิกษุณี
ข้อ (1) ถึง (4) ท่านเรียกว่า “บุพกรณ์”
ข้อ (5) ถึง (9) ท่านเรียกว่า “บุพกิจ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “บุพกรณ์” และ “บุพกิจ” ไว้ดังนี้
…………..
บุพกรณ์ : ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้น, งานที่จะต้องกระทำทีแรก, เรื่องที่ควรตระเตรียมให้เสร็จก่อน เช่น บุพกรณ์ของการทำอุโบสถ ได้แก่ เมื่อถึงวันอุโบสถ พระเถระลงอุโบสถก่อน สั่งภิกษุให้ปัดกวาดโรงอุโบสถ ตามไฟ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ตั้งหรือปูลาดอาสนะไว้; บุพกรณ์แห่งการกรานกฐิน คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑ เย็บเป็นจีวร ๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑ ทำกัปปะคือพินทุ ๑ ดังนี้เป็นต้น
บุพกิจ : กิจอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่ ก่อนสวดปาติโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา บอกฤดู นับภิกษุ ให้โอวาทนางภิกษุณี; บุพกิจแห่งการอุปสมบท ได้แก่ การให้บรรพชา ขอนิสัย ถืออุปัชฌาย์ จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น
…………..
แถม :
ว่าโดยทางถ้อยคำภาษา คำว่า “บุพกรณ์” และ “บุพกิจ” มีความหมายเหมือนกัน แต่เมื่อจับความตามเรื่องที่ทำ พอจะแยกได้ว่า –
เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ให้พร้อม เรียกว่า “บุพกรณ์” = สถานที่พร้อม
ตรวจสอบบุคคลให้เรียบร้อย เรียกว่า “บุพกิจ” = ผู้เข้าประชุมพร้อม
…………..
รถพร้อม
คนขับพร้อม
แต่ไม่มีกุญแจสตาร์ทเครื่อง
รถก็ไปไม่ได้
ดูก่อนภราดา!
การบริหารงานของหมู่คณะก็ฉันนั้น
: เครื่องไม่เครื่องมือ พร้อม
: คนที่สามารถทำงานได้ พ้อม
ขาดอยู่อย่างเดียว
: ผู้มีอำนาจไม่สั่ง
งานก็ไปไม่ได้
#บาลีวันละคำ (4,137)
10-10-66
…………………………….
…………………………….