บาลีวันละคำ

อวสาน (บาลีวันละคำ 593)

อวสาน

อ่านว่า อะ-วะ-สาน

อวสาน” รากศัพท์มาจาก อว (= ลง) + สา (ธาตุ = จบ, สิ้นสุด) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น “อน” (อะ-นะ)

: อว + สา = อวสา + ยุ > อน = อวสาน

อวสาน” แปลตามศัพท์ว่า “การสิ้นสุดลง” หมายถึง การจบลง, การสิ้นสุด, การอวสาน, การลงเอย, การลงท้าย, ปิดฉาก, ยุติ, เลิก

ในภาษาไทย เขียนเหมือนกัน พจน.42 บอกไว้ว่า –

อวสาน : จบ, สิ้นสุด; การสิ้นสุด, ที่สุด”

ในภาษาบาลี คำในชุดนี้ที่มีความหมายเหมือนกัน คือ “โอสาน” (โอ-สา-นะ) และ “ปริโยสาน” (ปะ-ริ-โย-สา-นะ)

โอสาน” รากศัพท์คือ อว แปลงเป็น โอ + สา = โอสา + ยุ > อน = โอสาน

ปริโยสาน” รากศัพท์คือ ปริ (= รอบ) + (คำประเภท “อาคม”) = ปริย + อว แปลงเป็น โอ = ปริโย + สา = ปริโยสา + ยุ > อน = ปริโยสาน

(ในเชิงไวยากรณ์ บอกว่าแปลง “อว” เป็น “โอ” ก็มี บอกว่าแปลง “โอ” เป็น “อว” ก็มี พึงทราบว่าถูกทั้งสองอย่าง)

เฉพาะ “ปริโยสาน” นอกจากจะมีความหมายเหมือน “อวสาน” และ “โอสาน” แล้ว ยังมีความหมายพิเศษออกไปอีก คือหมายถึง บรรลุเป้าหมาย, ความบริบูรณ์, ความดีเลิศ, ความเป็นพระอรหันต์ (finishing, perfection, ideal, Arahantship)

อวสาน” มักเขียนผิดเป็น “อวสานต์

อวสานต์” อาจแยกศัพท์เป็น อวสา = จบ + อันต = ที่สุด = อวสานต์ (ขอย้ำว่าเขียนผิด ไม่มีศัพท์เช่นนี้) = ที่สุดของจบ > เวลาของการจบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นเวลาของการไม่จบ > ดำเนินต่อไป > ยังไม่จบ

เพราะฉะนั้น โปรดทราบว่า “อวสาน” ไม่ต้องมี ต์ การันต์

: จบเอง > สงบ

: ถูกบังคับให้จบ > เจ็บ

30-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย