เอกชน (บาลีวันละคำ 4,146)
เอกชน
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า เอก-กะ-ชน
ประกอบด้วยคำว่า เอก + ชน
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอก, เอก– : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”
(๒) “ชน”
บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชนฺ + อ = ชน แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้
(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก
“ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)
เอก + ชน = เอกชน (เอก-กะ-ชน) แปลว่า (1) “คนคนหนึ่ง” (2) “คนคนเดียว”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอกชน : (คำนาม) บุคคลคนหนึ่ง ๆ. (คำวิเศษณ์) ส่วนบุคคล, ไม่ใช่ของรัฐ, เช่น โรงพยาบาลเอกชน.”
คำว่า “เอกชน” มักใช้ควบคู่ไปกับคำว่า ทางราชการ, ส่วนราชการ หรือ ภาครัฐ
– ทางราชการและเอกชน
– ส่วนราชการและเอกชน
– ภาครัฐและภาคเอกชน
หมายถึง พวกหนึ่งเป็นของทางราชการหรือของรัฐ อีกพวกหนึ่งไม่ใช่ของทางราชการหรือไม่ใช่ของรัฐ
แถม :
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “เอกชน” เป็นอังกฤษว่า an individual, a private individual, a private citizen
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล individual เป็นบาลีดังนี้:
(1) puggala ปุคฺคล (ปุก-คะ-ละ) = บุคคล, คน
(2) pacceka ปจฺเจก (ปัด-เจ-กะ) = เฉพาะคนเดียว
(3) puggalika ปุคฺคลิก (ปุก-คะ-ลิ-กะ) = เฉพาะคน, ส่วนบุคคล
(4) pāṭiyekka ปาฏิเยกฺก (ปา-ติ-เยก-กะ) = เฉพาะคนเดียว
และแปล private เป็นบาลีดังนี้:
(1) puggalika ปุคฺคลิก (ปุก-คะ-ลิ-กะ) = เฉพาะคน, ส่วนบุคคล
(2) ajjhattika อชฺฌตฺติก (อัด-ชัด-ติ-กะ) = เป็นภายใน, เรื่องภายใน
…………..
ดูก่อนภราดา!
สุภาพบุรุษ: คิดถึงประโยชน์ของครอบครัว
รัฐบุรุษ: คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมือง
มหาบุรุษ: คิดถึงประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ
#บาลีวันละคำ (4,146)
19-10-66
…………………………….
…………………………….