บาลีวันละคำ

ปวัตตมังสะ (บาลีวันละคำ 4,147)

ปวัตตมังสะ

คือเนื้อตามเขียงทั่วไป

อ่านว่า ปะ-วัด-ตะ-มัง-สะ

ประกอบด้วยคำว่า ปวัตต + มังสะ

(๑) “ปวัตต

เขียนแบบบาลีเป็น “ปวตฺต” อ่านว่า ปะ-วัด-ตะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: + วตฺ = ปวตฺ + = ปวตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปทั่ว” คือมีอยู่ทั่วไป

ปวตฺต” ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) บังเกิดขึ้น, ดำเนินไป, คืบหน้าไป, เกิดผล (happening, going on, procedure, resulting)

(2) “สิ่งซึ่งดำเนินไป”, คือวัฏจักร หรือการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของชีวิต (“that which goes on,” i. e. the circle or whirl of existence)

(3) ตั้งอยู่บน, เกี่ยวกับ, เกี่ยวเนื่อง, อยู่ใน (founded on, dealing with, relating to, being in)

ในที่นี้ “ปวตฺต” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

(๒) “มังสะ

เขียนแบบบาลีเป็น “มํส” อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

ปวตฺต + มํส = ปวตฺตมํส (ปะ-วัด-ตะ-มัง-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “เนื้ออันเป็นไปแล้ว” หมายถึง เนื้อที่มีอยู่ตามปกติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปวตฺตมํส” ว่า fresh or raw meat (เนื้อสดหรือเนื้อดิบ) 

ปวตฺตมํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปวัตตมังสะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

ปวัตตมังสะ : เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่เขาขายอยู่ตามปกติสำหรับคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวายพระ; ตรงข้ามกับ อุทิสสมังสะ 

…………..

ขยายความ :

(1) คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193 (เภสัชชขันธกวัณณนา) ไขความคำว่า “ปวตฺตมํส” ไว้วา –

…………..

ปวตฺตมํสนฺติ  มตสฺเสว  มํสํ  ฯ  

คำว่า “ปวตฺตมํส” หมายถึง เนื้อของสัตว์ที่ตายแล้ว

…………..

(2) คัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค 3 หน้า 347 (อธิบายเรื่องสีหเสนาบดี) ไขความคำว่า “ปวตฺตมํส” ไว้วา –

…………..

ปวตฺตมํสนฺติ  ปกติยา  ปวตฺตกปฺปิยมํสํ  มูลํ  คเหตฺวา  อนฺตราปเณ  ปริเยสาหีติ  อธิปฺปาโย  ฯ

คำว่า ปวตฺตมํสํ หมายถึง เนื้ออันเหมาะสมที่มีขายอยู่ตามปกติ มีคำอธิบายว่า (สีหเสนาบดีสั่งคนใช้ว่า) เธอจงหาซื้อ (เนื้อเช่นนั้น) เอาตามร้านตลาด

…………..

(3) คัมภีร์สารัตถทีปนี (ฎีกาพระวินัย) ภาค 3 หน้า 96 ไขความคำว่า “ปวตฺตมํส” ไว้วา –

…………..

ปวตฺตมํสนฺติ  วิกฺกายิกมํสํ  ฯ  

คำว่า ปวตฺตมํสํ หมายถึง เนื้อที่ขายกันทั่วไป 

…………..

ปวัตตมังสะ” จึงหมายถึง เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเพื่อจำหน่ายให้แก่คนทั่วไปอันมีอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวันของประชาชน จะมีใครซื้อไปปรุงเป็นอาหารกินเองหรือถวายพระ ทั้งผู้ฆ่าและผู้ขายไม่รับรู้อะไรด้วย เขาฆ่าเขาขายตามปกติอยู่แล้ว

ปวัตตมังสะ” เป็นเนื้อที่พระฉันได้

ส่วน “อุทิสสมังสะ” หรือ “อุทิศมังสะ” (อุ-ทิด-สะ-มัง-สะ) หมายถึง เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าด้วยความตั้งใจที่จะปรุงเป็นอาหารถวายพระโดยเฉพาะ

อุทิศมังสะ” เป็นเนื้อที่พระห้ามฉัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชวนไม่ให้กิน ก็เข้าท่า

: ชวนไม่ให้ฆ่า ก็ยิ่งเข้าที

#บาลีวันละคำ (4,147)

20-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *