มาฆาต (บาลีวันละคำ 4,148)
มาฆาต
คำประกาศของคนชมพูทวีป
อ่านว่า มา-คาด
“มาฆาต” บาลีอ่านว่า มา-คา-ตะ
แยกศัพท์เป็น มา + ฆาต
(๑) “มา”
เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“มา” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, อย่า, หวังว่าคงไม่, ขอให้…ไม่ (not, do not, let us hope not, I wish that … not)
(๒) “ฆาต”
บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต
: หนฺ+ อ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)
ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ
– การทำให้ตาย > การฆ่า
– ผู้ทำให้ตาย > ผู้ฆ่า
– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย > เครื่องมือฆ่า
– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย > ที่ฆ่า > ที่ตาย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทําลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ. (อภัย).”
คำว่า “ฆาต” ที่เราคุ้นในภาษาไทยก็อย่างเช่น –
“ฆาตกรรม” = กรรมคือการฆ่า คือการฆ่ากัน
“ฆาตกร” = ผู้ทำให้ตาย คือผู้ฆ่า
“ปิตุฆาต” = การฆ่าพ่อ
“มาตุฆาต” = การฆ่าแม่
คำว่า “พิฆาต” = ฆ่า, ทำลายล้าง ก็มาจาก “ฆาต” คำนี้
มา + ฆาต = มาฆาต (มา-คา-ตะ) แปลว่า “อย่าฆ่า” หรือ “ห้ามฆ่า”
“มาฆาต” เป็นคำเรียกวันห้ามฆ่าสัตว์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “มาฆาต” ว่า the injunction not to kill, non-killing order [with ref. to the killing of animals] (คำสั่งไม่ให้ฆ่า, คำสั่งมิให้ทำลาย [เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์])
ขยายความ :
ขอยกคำว่า “มาฆาต” ที่พบในคัมภีร์บาลีมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา ดังนี้ –
…………..
(1) นตฺถยฺเย ปวตฺตมํสํ มาฆาโต อชฺชาติ ฯ
(นายผู้หญิงสั่งคนรับใช้ให้ไปซื้อเนื้อที่ตลาด คนรับใช้กลับมาแจ้งว่า)
คุณนาย วันนี้เป็นวันมาฆาต เนื้อที่ตลาดไม่มีขาย
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 58
…………..
(2) มาฆาโตติ ตํ ทิวสํ น ลพฺภา เกนจิ กิญฺจิ ชีวิตา โวโรเปตุํ ฯ
คำว่า “วันมาฆาต” คือ (มีข้อห้ามว่า) วันนั้นใครจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ได้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193
…………..
(3) น หนฺตพฺโพติ มาฆาโต มาฆาโต อิติ วตฺตพฺโพ สมโย มาฆาตสมโย ฯ
วันที่ห้ามฆ่าสัตว์ ชื่อว่าวันมาฆาต, กำหนดเวลาที่บอกกันว่า “ห้ามฆ่าสัตว์” ชื่อว่ามาฆาตสมัย
ที่มา: อัตถโยชนาคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 134
…………..
(4) มาฆาโตติ มา ฆาเตถ ปาณิโนติ เอวํ มาฆาตโฆสนโฆสิตทิวโส ฯ
คำว่า “วันมาฆาต” คือวันที่มีการป่าวประกาศห้ามฆ่าสัตว์ด้วยข้อความว่า “มา ฆาเตถ ปาณิโน” = ท่านทั้งหลายอย่าฆ่าสัตว์ (คำว่า “มา ฆาเตถ” จึงเป็นที่มาของชื่อวัน “มาฆาต”)
ที่มา: สารัตถทีปนี (ฎีกาพระวินัย) ภาค 4 หน้า 253
…………..
คำว่า “มาฆาต” เป็นคำเรียกวันที่กำหนดห้ามฆ่าสัตว์อันเป็นหลักนิยมอย่างหนึ่งของสังคมชาวชมพูทวีปสมัยพุทธกาล แต่จะกำหนดเป็นวันไหนและกำหนดอย่างไร ยังไม่พบคำอธิบาย สันนิษฐานว่าอาจเป็นวันอุโบสถหรือที่เรารู้จักกันว่า “วันพระ”
สมัยหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยมีข้อกำหนดว่า ห้ามโรงฆ่าสัตว์ฆ่าวัวฆ่าหมูในวันพระ ดังเป็นที่รู้กันว่า “วันพระไม่มีเนื้อขาย”
ที่ต้องใช้คำว่า “สมัยหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้” เพราะไม่ทราบว่าข้อกำหนดนี้ยังปฏิบัติกันอยู่หรือยกเลิกไปแล้ว
สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรม “วันมาฆาต” มาใช้ แต่คนไทยน่าจะไม่เคยรู้จักคำว่า “วันมาฆาต” กันมาก่อน
ช่วยกันจำเอาไปพูดกันอีกสักคำหนึ่งก็น่าจะดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จะกินก็ไม่ว่า
: แต่อย่าฆ่าก็แล้วกัน
#บาลีวันละคำ (4,148)
21-10-66
…………………………….
…………………………….