อนาคาริก (บาลีวันละคำ 1,939)
อารามิกชน
คนที่อยู่ก้นครัว
อ่านว่า อา-รา-มิก-กะ-ชน
แยกศัพท์เป็น อารามิก + ชน
(๑) “อารามิก”
บาลีอ่านว่า อา-รา-มิ-กะ รูปศัพท์เดิมมาจาก อาราม + อิก ปัจจัย
(ก) “อาราม”
บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ร-(มฺ) เป็น อา (รมฺ > ราม)
: อา + รมฺ = อารมฺ + ณ = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี”
“อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)
(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)
(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)
นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).
(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.
ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด
(ข) อาราม + อิก ปัจจัย
: อาราม + อิก = อารามิก (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ตั้งอยู่ในอาราม” “ประกอบไว้ในอาราม” “อันมีอยู่แก่อาราม”
“อารามิก” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) มีความสำราญ, ชอบ (finding delight in, fond of)
(2) เป็นของอาราม, ผู้เป็นอารามิกชน, ผู้รับใช้ของอาราม (belonging to an Ārāma, one who shares the congregation, an attendant of the Ārāma)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อารามิก : (คำนาม) เกี่ยวกับวัด, ชาววัด. (ป.).”
อาจจำไว้ง่ายๆ ว่า “อารามิก” –
ถ้าเป็นคน คือ “คนวัด”
ถ้าเป็นของ คือ “ของวัด”
(๒) “ชน”
บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย
: ชนฺ + อ = ชน แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้
(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก
“ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)
อารามิก + ชน = อารามิกชน แปลว่า “คนผู้อยู่ในอาราม” “คนผู้ประกอบกิจในอาราม” “คนของอาราม” = คนวัด
…………..
อภิปราย :
“อารามิกชน” ถ้าแปลตามศัพท์ว่า “คนผู้อยู่ในอาราม” ก็ควรหมายถึงนักบวช กล่าวเฉพาะในพระพุทธศาสนาก็หมายถึงพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี
แต่เท่าที่พบในคัมภีร์ “อารามิก” หมายถึง คนที่อยู่ในวัด แต่มิได้เป็นบรรพชิต
ต้นเรื่องในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระสาวกรูปหนึ่ง ชื่อพระปิลินทวัจฉะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คราวหนึ่งจาริกมาถึงเมืองราชคฤห์ พบเงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ทำเลสสงบสงัดดี จึงช่วยกันกับภิกษุอื่นๆ จัดแจงปรับสถานที่สำหรับเป็นที่ปลีกวิเวก
พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งมคธรัฐทรงทราบ จึงตรัสสั่งให้จัดคนไปช่วยทำกิจนั้นโดยวิธียกหมู่บ้านแห่งหนึ่งให้เป็น “อารามิก” (คำว่า “อารามิก” พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “คนทำการวัด”) คนในหมู่บ้านนั้นทั้งหมดมีฐานะเป็นคนทำงานให้วัด หมู่บ้านนั้นมีฐานะเป็นเอกเทศจากบ้านเมือง คือเป็นเหมือนสมบัติของวัด บ้านเมืองไม่เข้าไปใช้อำนาจ เช่นไม่เก็บภาษี ไม่เกณฑ์คนในหมู่บ้านไปสงครามเป็นต้น
ในเมืองไทยเราก็เคยมีธรรมเนียมยกหมู่บ้านถวายวัดแบบนี้ มีคำเรียกคนที่ทำงานรับใช้วัดว่า “ข้าพระ โยมสงฆ์”
“อารามิกชน” ที่สังคมไทยสมัยหนึ่งรู้จักกันดีคือ เด็กวัด
สมัยนี้ “อารามิกชน” ควรจะหมายถึงข้าราชการและหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์อันถูกต้องและชอบธรรมของคณะสงฆ์ ของวัด และของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นกำลังของแผ่นดินในอันที่จะอำนวยประโยชน์และความสุขแก่มหาชนตลอดจนถึงชาวโลกทั้งมวลสืบไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
ถ้าพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนบ้านหลังหนึ่ง
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน –
: คนนอก ทำลายได้แค่ประตูรั้ว
: คนที่อยู่ก้นครัว ทำลายได้ถึงรากเสาเรือน
#บาลีวันละคำ (1,939)
30-9-60