อสีติมหาสาวก (บาลีวันละคำ 4,151)
อสีติมหาสาวก
แปดสิบเซียนในพระพุทธศาสนา
อ่านว่า อะ-สี-ติ-มะ-หา-สา-วก
ประกอบด้วยคำว่า อสีติ + มหา + สาวก
(๑) “อสีติ”
อ่านว่า อะ-สี-ติ แปลว่า แปดสิบ (จำนวน 80) ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ปกติสังขยา” คือคำบอกจำนวนของสิ่งที่นับ คู่กับ “ปูรณสังขยา” คือคำบอกเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ
แวะหาความรู้ :
“ปกติสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติ มหาสาวกา” = พระมหาสาวก 80 องค์ (รวมหมดทั้ง 80 องค์)
“ปูรณสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติโม มหาสาวโก” = พระมหาสาวกองค์ที่ 80 (เฉพาะองค์ที่ 80 องค์เดียว)
(๒) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ สาวก เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.”
(๓) “สาวก”
บาลีอ่านว่า สา-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ว) เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ (สว > สาว), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: สุ > โส > สว + ณฺวุ > อก : สว + อก = สวก > สาวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟังคำของครู” หมายถึง ผู้ฟัง, สาวก (a hearer, disciple)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาวก : (คำนาม) ศิษย์ของศาสดา. (ป.; ส. ศฺราวก).”
การประสมคำ :
๑ มหันต > มหา + สาวก = มหาสาวก แปลว่า “ พระสาวกชั้นผู้ใหญ่”
๒ อสีติ + มหาสาวก = อสีติมหาสาวก แปลว่า “ พระสาวกชั้นผู้ใหญ่แปดสิบองค์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“มหาสาวก : (คำนาม) พระสาวกชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธเจ้า ๘๐ องค์ ซึ่งรวมพระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์เข้าไว้ในจํานวนนั้นด้วย. (ป.; ส. มหาศฺราวก).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
มหาสาวก : สาวกผู้ใหญ่, สาวกชั้นหัวหน้า เรียนกันมาว่ามี ๘๐ องค์; ดู อสีติมหาสาวก
…………..
ขยายความ :
ที่คำว่า “อสีติมหาสาวก” (พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงรายนามเรียงตามลำดับอักษรไว้ดังนี้ (ที่มีเครื่องหมาย * คือเป็นเอตทัคคะด้วย)
(1) กังขาเรวตะ
(2) กัปปะ
(3) *กาฬุทายี
(4) กิมพิละ
(5) *กุมารกัสสปะ
(6) *กุณฑธาน
(7) คยากัสสปะ
(8 ) ควัมปติ
(9) จุนทะ
(10) *จูฬปันถก
(11) ชตุกัณณิ
(12) ติสสเมตเตยยะ
(13) โตเทยยะ
(14) *ทัพพมัลลบุตร
(15) โธตกะ
(16) นทีกัสสปะ
(17) *นันทะ
(18) *นันทกะ
(19) นันทกะ (อีกองค์หนึ่ง)
(20) นาคิตะ
(21) นาลกะ
(22) ปิงคิยะ
(23) *ปิณโฑลภารทวาช
(24) *ปิลินทวัจฉะ
(25) ปุณณกะ
(26) ปุณณชิ
(27) *ปุณณมันตานีบุตร
(28) ปุณณสุนาปรันตะ
(29) โปสาละ
(30) *พากุละ (พักกุละ ก็เรียก)
(31) *พาหิยทารุจีริยะ
(32) ภคุ
(33) *ภัททิยะ (ศากยะ)
(34) ภัททิยะ
(35) ภัทราวุธ
(36) *มหากัจจายนะ
(37) *มหากัปปินะ
(38) *มหากัสสปะ
(39) *มหาโกฏฐิตะ
(40) มหานามะ
(41) *มหาปันถก
(42) *มหาโมคคัลลานะ
(43) เมฆิยะ
(44) เมตตคู
(45) *โมฆราช
(46) ยสะ
(47) ยโสชะ
(48) *รัฏฐปาละ
(49) *ราธะ
(50) *ราหุล
(51) *เรวตะ ขทิรวนิยะ
(52) *ลกุณฏกภัททิยะ
(53) *วักกลิ
(54) *วังคีสะ
(55) วัปปะ
(56) วิมละ
(57) สภิยะ
(58) *สาคตะ
(59) *สารีบุตร
(60) *สีวลี
(61) สุพาหุ
(62) *สุภูติ
(63) เสละ
(64) *โสณกุฏิกัณณะ
(65) *โสณโกฬิวิสะ
(66) *โสภิตะ
(67) เหมกะ
(68) องคุลิมาล
(69) อชิตะ
(70) *อนุรุทธะ
(71) *อัญญาโกณฑัญญะ
(72) อัสสชิ
(73) *อานนท์
(74) อุทยะ
(75) อุทายี
(76) *อุบาลี
(77) อุปวาณะ
(78) อุปสีวะ
(79) *อุปเสนวังคันตบุตร
(80) *อุรุเวลกัสสปะ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่านนามได้ครบทั้ง 80
สาธุ
: จำนามได้ครบทั้ง 80
อนุโมทนาสาธุ
: ตั้งใจปฏิบัติพัฒนาตนเองให้เฉียดๆ ปฏิปทาของท่านองค์ใดองค์หนึ่ง
กราบอนุโมทนาสาธุ
#บาลีวันละคำ (4,151)
24-10-66
…………………………….
…………………………….