บาลีวันละคำ

เรียนบาลีจากคำบูชา (บาลีวันละคำ 2,689)

เรียนบาลีจากคำบูชา

ผู้เขียนบาลีวันละคำผ่านไปทาง “ลานพระบรมรูปทรงม้า” (ตามคำเรียกของคนทั่วไป) ได้เห็นป้ายคำบูชาตั้งอยู่จึงได้ถ่ายภาพไว้

คำบูชานั้นมีภาษาบาลีอยู่หลายคำ เป็นคำอย่างที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” คือจำกันมาจากปากต่อปาก บางคำบางส่วนสามารถสืบหาที่มาได้ แต่บางคำก็เป็นมุขปาฐะแท้ๆ ไม่ปรากฏที่มา และบอกไม่ได้ว่าทำไมจึงใช้คำเช่นนั้น

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของป้ายคำบูชาชนิดนี้ก็คือ สะกดผิดแบบไม่ลืมหูลืมตา

ขอคัดเฉพาะคำบาลีบางส่วนมาลงไว้ในที่นี้ แล้วอธิบายเท่าที่จะทำได้พอเป็นความรู้สำหรับนักเลงบาลี

………….

(๑)

พระสยามมินทร์โธ วะโรอิติ พุทธะสังมิ

อิติอะระหังสหัสกายัง  วะรัง พุทโธ นะโมพุทธายะ

………….

(๒)

พระสยามะมินโท วะโร อัตตัง พุทธะ

สังมิ อิติ อะระหัง วะรัง พุทโธ นะโม

พุทธายะ ปิโย เทวามนุสสานัง …

ปิโย นาคะสัมปันนานัง …

ปิโย พรหมานะมุตตะโม …

ปินันทิยัง นะมามินัง …

………….

(๓)

พระสยามมินโท วะโร อัตตัง พุทธะสังมิ

อิติ อะระหัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ

ปิโย เทวามนัสสานัง …

ปิโย นาคะสัมปันนัง …

ปิโย พรหมานะมุตตะโม …

ปินันทิยัง นะมามินัง …

………….

(๔)

ปิโยเทวา มนุษย์สานัง

ปิโยพรหมมา นะมุ ตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง

ปินินชะลิยัง นะมามิหัง พระสยามมินทร์โธ วะโร

อิติพุทธะ สังมิ อิติอะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทธโธ

นะโมพุทธายะ …

………….

อภิปราย :

๑ คำว่า “พระสยามมินทร์โธ” (ในวงเล็บ ๑ และ ๔) “พระสยามะมินโท” (ในวงเล็บ ๒) และ “พระสยามมินโท” (ในวงเล็บ ๓) ล้วนเป็นคำที่สะกดผิด

คำที่ออกเสียงแบบไทยๆ ว่า สะ-หฺยาม-มิน-โท สะกดเป็นบาลีว่า “สฺยามินฺโท” (สฺยาม- มีจุดใต้ สฺ ด้วย) ออกเสียงว่า เซียม-มิน-โท แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในสยาม” หมายถึง พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ภาษาไทยสะกดเป็น “สยามินทร์” อ่านว่า สะ-หฺยา-มิน

เมื่อเอาว่า “สยามินทร์” ไปเขียนเป็นบาลีออกเสียงว่า สะ-หฺยาม-มิน-โท ผู้เขียนไม่เข้าใจอักขรวิธีของคำบาลี จึงสะกดไปตามที่คิดเอาเองเป็น “พระสยามมินทร์โธ” บ้าง “พระสยามะมินโท” บ้าง “พระสยามมินโท” บ้าง ดังที่เห็น

………….

๒ คำที่ออกเสียงว่า พุด-ทะ-สัง-มิ

– ในวงเล็บ ๑ และ ๓ สะกดเป็น “พุทธะสังมิ”

– ในวงเล็บ ๒ แยก “พุทธะ” กับ “สังมิ” ไว้คนละบรรทัด

– ในวงเล็บ ๔ อยู่บรรทัดเดียวกัน แต่แยก “พุทธะ” กับ “สังมิ” ออกเป็นคนละคำ

คำนี้ควรเขียนติดกันเป็นกลุ่มคำเดียวกัน สะกดเป็น “พุทธะสังมิ” เรียกกันว่า “หัวใจไตรสรณคมน์

พุท” ย่อมาจาก พุทธัง

ธะ” ย่อมาจาก ธัมมัง

สัง” ย่อมาจาก สังฆัง

มิ” ย่อมาจาก คัจฉามิ

คำเต็มๆ –

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

แปลว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

จวนตัว จวนเจียน เข้าที่คับขัน ไม่มีเวลาที่จะว่ายาวๆ ก็จึงถอดหัวใจออกมาเป็นคำสั้นๆ ขึ้นต้น ลงท้าย จบพร้อมบริบูรณ์

พุทธะสังมิ” ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะทางภาษาบาลีอย่างหนึ่งของคนไทย

………….

๓ คำที่ขึ้นต้นว่า “ปิโย” นั้น เอามาจากบทสวดที่เรียกว่า “พระอิติปิโสรัตนมาลา” เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีที่ยกบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แต่ละพยางค์ขึ้นตั้งเป็นกระทู้ แล้วแต่งขยายความเป็นคาถา (บทร้อยกรอง) พยางค์ละ 1 คาถา เริ่มตั้งแต่ อิ- ติ- ปิ- โส- … เรื่อยไปจนจบสังฆคุณ

พยางค์ “ปิ-” ท่านแต่งเป็นคาถาว่าดังนี้ –

ปิโย เทวมนุสฺสานํ

ปิโย พฺรหฺมานมุตฺตโม

ปิโย นาคสุปณฺณานํ

ปิณินฺทฺริยํ นมามิหํ.

(ปิโย เทวะมะนุสสานัง

ปิโย พ๎รัห๎มานะมุตตะโม

ปิโย นาคะสุปัณณานัง

ปิณินท๎ริยัง นะมามิหัง.)

แปลว่า –

พระพุทธเจ้าพระองค์ใด

ทรงเป็นที่รักของทวยเทพยดาแลมนุษย์

ทรงเป็นที่รักสูงสุดของเหล่าพรหม

ทรงเป็นที่รักนิยมของบรรดานาคแลสุบรรณ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้มีพระอินทรีย์ดูดดื่มดวงหฤทัย

เหตุที่ยกคาถาบทนี้มาเป็นคำบูชาคงเป็นเพราะมีคำว่า “ปิโย” นำหน้าถึง 3 วรรค สอดคล้องกับพระนาม “พระปิยมหาราช” นั่นเอง

ความจริงคาถาบทนี้เป็นคำบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ใช่บูชาพระปิยมหาราช

………….

คำอื่นๆ ที่เหลือ ถ้าไม่ใช่คำที่น่าจะพอเข้าใจกันได้ ก็เป็นคำที่เหลือกำลังที่ผู้เขียนบาลีวันละคำจะอธิบายได้ในที่นี้ จึงขอฝากท่านที่นิยมทางคาถาช่วยกันพิจารณาด้วยเถิด

แต่บทสรุปที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ชาวเราเปี่ยมด้วยศรัทธาในพระปิยมหาราช เป็นศรัทธาล้วนๆ คือศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ใจ

ถ้าได้ใช้ปัญญาเข้าประกอบกำกับอีกสักหน่อย คำบูชาพระองค์ท่านที่สร้างถวายด้วยศรัทธาก็จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีกว่านี้

เราไม่ได้ขาดแคลนคนรู้ภาษาบาลี

แต่เราขาดแคลนผู้ที่จะเรียกคนรู้บาลีไปฉลองศรัทธา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศรัทธาที่ขาดปัญญากำกับ

ดั่งเดือนดาวตะวันดับ

เดินหลงในดงแดนไพร

: ปัญญาที่แล้งศรัทธาเลี้ยงใจ

เหมือนทางสว่างไสว

แต่เดินในดงแดนกันดาร

: ขอเชิญเมธีปรีชญาณ

บรรจงประสงค์ประสาน

ประสมสองให้ถูกส่วนเทอญ

#บาลีวันละคำ (2,689)

23-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย