กกุสันโธ (บาลีวันละคำ 4,157)
กกุสันโธ
“ผู้ทรงไว้ซึ่งกองแห่งคุณความดี”
…………..
ในกัปปัจจุบันอันเรียกว่าภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ
(1) กกุสันโธ = พระกกุสันธะ
(2) โกนาคมโน = พระโกนาคมน์
(3) กัสสโป = พระกัสสป
(4) โคตโม = พระโคดม
(5) เมตเตยโย = พระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)
พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ คนไทยเรียกกันมาว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”
…………..
“กกุสันโธ” เขียนแบบบาลีเป็น “กกุสนฺโธ” อ่านว่า กะ-กุ-สัน-โท รูปคำเดิมเป็น “กกุสนฺธ” (กะ-กุ-สัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก กกุ (ยอดภูเขา, ยอดสูงสุด = คุณความดี) + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ธา (ธา > ธ)
: กกุ + สํ + ธา = กกุสํธา > กกุสํธ + อ = กกุสํธ > กกุสนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งกองแห่งคุณความดี”
หมายเหตุ: รากศัพท์ตามนัยแห่งคัมภีร์นิรุตติทีปนี
“กกุสนฺธ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “กกุสนฺโธ” เขียนแบบไทยคงรูปบาลีเป็น “กกุสันโธ”
ขยายความ :
“กกุสันโธ” เป็นนามพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ 1 (ถ้านับพระพุทธเจ้าทั้งหมดในกัปต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรเป็นต้นมา พระกกุสันโธนับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 22)
สรุปสาระสำคัญในประวัติของพระกกุสันโธ เป็นดังนี้
…………..
เมือง = เขมวดี (กษัตริย์พระนามว่า เขมะ)
พุทธบิดา = อัคคิทัตตพราหมณ์
พุทธมารดา = วิสาขาพราหมณี
ครองเรือน = สี่พันปี
ปราสาท 3 ฤดู = กามวัฑฒะ กามสุทธิ รติวัฑฒนะ
สนมนารี = สามหมื่นนาง
มเหสี = โรปินี (ฉบับพม่าว่า โรจีนี ฉบับยุโรปว่า วิโรจมานา)
พระโอรส = อุตระ
พาหนะในวันออกบวช = รถ
บำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ = นาน 8 เดือน
สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา = มฤคทายวัน
อัครสาวก = พระวิธุรเถระ และพระสัญชีวนามเถระ
พุทธอุปัฏฐาก = พระพุทธิชเถระ
อัครสาวิกา = พระสามาเถรี และพระจัมปนามาเถรี
อัครอุปัฏฐาก = อัจจุคตอุบาสก และสุมนอุบาสก
อัครอุปัฏฐายิกา= นันทาอุบาสิกา และสุนันทาอุบาสิกา
ต้นไม้ตรัสรู้ = สิรีสะ (ไม้ซึก)
พระรัศมีจากพระวรกาย = เปล่งออกไป 10 โยชน์โดยรอบ
พระชนมายุ = สี่หมื่นปี
พระองค์สูง = 40 ศอก
ประชุมสาวก = 1 ครั้ง จำนวนสาวก สี่หมื่น
แสดงธรรมครั้งสำคัญ = 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 จำนวนผู้บรรลุธรรม สี่หมื่นโกฏิ
ครั้งที่ 2 จำนวนผู้บรรลุธรรม สามหมื่นโกฏิ
ครั้งที่ 3 จำนวนผู้บรรลุธรรม คำนวณนับมิได้
สถานที่ปรินิพพาน = เขมาราม
พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ = สูงหนึ่งคาวุต
พระโพธิสัตว์ (คือพระโคดม) เสวยพระชาติเป็น = พระเจ้าเขมะ กษัตริย์ครองนครเขมวดี
ที่มา:
พุทธวงศ์ พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 23
มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) หน้า 456-464
…………..
แถม :
สัญลักษณ์สัตว์ประจำพระองค์พระกกุสันโธ ตามคติของคนไทยมักเข้าใจกันว่าเป็น ไก่ ดังปรากฏในภาพพระเจ้าห้าพระองค์ที่เผยแพร่กันทั่วไป
เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะพระนาม “กกุสันโธ” ฟังแต่เสียงพยางค์ต้นคล้ายกับคำว่า “กุกฺกุฏ” (กกุ > กุกฺกุ) ซึ่งแปลว่า “ไก่” (พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐของไทย พระนามนี้เป็น “กุกฺกุสนฺโธ”) คนฟังจึงจินตนาการให้เป็นเช่นนั้น
“กกุสันโธ” หมายถึง “ทรงไว้ซึ่งกองแห่งคุณความดี”
ไม่เกี่ยวกับ “ไก่” ใดๆ เลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง
: เราต้องเดินเอง
#บาลีวันละคำ (4,157)
30-10-66
…………………………….
…………………………….