บาลีวันละคำ

โกนาคมโน (บาลีวันละคำ 4,158)

โกนาคมโน

ผู้เกิดในเวลาที่เครื่องอาภรณ์ทองคำมาถึง

…………..

ในกัปปัจจุบันอันเรียกว่าภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ 

(1) กกุสันโธ = พระกกุสันธะ 

(2) โกนาคมโน = พระโกนาคมน์ 

(3) กัสสโป = พระกัสสป 

(4) โคตโม = พระโคดม 

(5) เมตเตยโย = พระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)

พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ คนไทยเรียกกันมาว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”

…………..

โกนาคมโน” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า โก-นา-คะ-มะ-โน รูปคำเดิมเป็น “โกนาคมน” (โก-นา-คะ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก กนก (ทองคำ) + อาคมน (การมา) แปลง พยัญชนะตัวหน้าของ กนก เป็น โก แล้วลบ พยัญชนะตัวหลัง (กนก > โกนก > โกน) อนึ่ง บางแห่งแปลง ที่ กก เป็น ก็มี 

: กนก + อาคมน = กนกาคมน > โกนกาคมน > โกนาคมน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในเวลาที่เครื่องอาภรณ์ทองคำมาถึง” 

อนึ่ง บางแห่งแปลง ที่ กก เป็น ก็มี 

: กนก + อาคมน = กนกาคมน > โกนกาคมน > โกนาคมน > โกณาคมน 

หมายเหตุ: รากศัพท์ตามนัยแห่งคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) หน้า 464

โกนาคมน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โกนาคมโน” เขียนแบบไทยเป็น “โกนาคมน์” อ่านว่า โก-นา-คม

ขยายความ :

โกนาคมโน” หรือ “พระโกนาคมน์”  เป็นนามพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ 2 (ถ้านับพระพุทธเจ้าทั้งหมดในกัปต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรเป็นต้นมา พระโกนาคมน์นับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 23)

สรุปสาระสำคัญในประวัติของพระโกนาคมน์ เป็นดังนี้ 

…………..

เมือง = โสภวดี  (กษัตริย์พระนามว่าโสภะ)

พุทธบิดา = ยัญทัตตพราหมณ์

พุทธมารดา = อุตราพราหมณี

ครองเรือน = สามหมื่นปี

ปราสาท 3 ฤดู = ดุสิต สันดุสิต สันตุฏฐะ

สนมนารี = หมื่นหกพันนาง

มเหสี = รุจิคุตตาพราหมณี

พระโอรส = สัตถวาหะ

พาหนะในวันออกบวช = ช้าง

บำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ = นาน 6 เดือน

สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา = มฤคทายวัน

อัครสาวก = พระภิยโยสเถระ และพระอุตรเถระ

พุทธอุปัฏฐาก = พระโสตถิชเถระ

อัครสาวิกา = พระสมุททาเถรี และพระอุตราเถรี

อัครอุปัฏฐาก = อุคคอุบาสก และโสมเทวอุบาสก

อัครอุปัฏฐายิกา= สีวลาอุบาสิกา และสามาอุบาสิกา

ต้นไม้ตรัสรู้ = อุทุมพร (มะเดื่อ)

พระรัศมีจากพระวรกาย = “เปล่งปลั่งดังทองที่ปากเบ้า”

พระชนมายุ = สามหมื่นปี

พระองค์สูง = 30 ศอก

ประชุมสาวก = 1 ครั้ง จำนวนสาวก สี่หมื่น

แสดงธรรมครั้งสำคัญ = 3 ครั้ง

     ครั้งที่ 1 จำนวนผู้บรรลุธรรม สามหมื่นโกฏิ

     ครั้งที่ 2 จำนวนผู้บรรลุธรรม สองหมื่นโกฏิ

     ครั้งที่ 3 จำนวนผู้บรรลุธรรม หมื่นโกฏิ

สถานที่ปรินิพพาน = ปัพพตาราม

พระบรมสารีริกธาตุ = แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ

พระโพธิสัตว์ (คือพระโคดม) เสวยพระชาติเป็น = พระเจ้าปัพพตะ กษัตริย์ครองนครมิถิลา

ที่มา:

พุทธวงศ์ พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 24

มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) หน้า 464-472

…………..

แถม :

สัญลักษณ์สัตว์ประจำพระองค์พระโกนาคมน์ ตามคติของคนไทยมักเข้าใจกันว่าเป็น พญานาค ดังปรากฏในภาพพระเจ้าห้าพระองค์ที่เผยแพร่กันทั่วไป

เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะพระนาม “โกนาคมโน” หรือ “โกนาคมน์” สามารถแยกศัพท์เป็น โก-นาค-มโน มีคำว่า “นาค” อันเป็นพญางูชนิดหนึ่งอยู่ด้วย “นาค” หรือพญานาคจึงถูกนำมาใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำพระองค์พระโกนาคมน์ 

“โกนาคมโน” หมายถึง “ผู้เกิดในเวลาที่เครื่องอาภรณ์ทองคำมาถึง” รากศัพท์มีความเป็นมาดังแสดงข้างต้น

ไม่เกี่ยวกับ “พญานาค” ใดๆ เลย

หมายเหตุ : 

สัตว์สัญลักษณ์ประจำพระเจ้าห้าพระองค์ดังที่ปรากฏนั้น ท่านผู้ใดมีหลักฐานว่ามีที่ไปที่มาเป็นประการใด ขอความกรุณานำมาเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ทั้งจะได้แก้ไขความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำให้ถูกต้องต่อไปด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่เกิดบนกองเงินกองทองมีจริง

: คนที่บำเพ็ญบุญบารมีจนถึงที่สุดก็มีจริง

“มีจริง” แบบไหนที่เรามีสิทธิ์เลือกได้?

#บาลีวันละคำ (4,158)

31-10-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *