บาลีวันละคำ

เมตเตยโย (บาลีวันละคำ 4,161)

เมตเตยโย

ผู้เกื้อกูลด้วยเมตตา

…………..

ในกัปปัจจุบันอันเรียกว่าภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ 

(1) กกุสันโธ = พระกกุสันธะ 

(2) โกนาคมโน = พระโกนาคมน์ 

(3) กัสสโป = พระกัสสป 

(4) โคตโม = พระโคดม 

(5) เมตเตยโย = พระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)

พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ คนไทยเรียกกันมาว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”

…………..

เมตเตยโย” เขียนแบบบาลีเป็น “เมตฺเตยฺโย” (มีจุดใต้ ตฺ และ ยฺ ตัวหน้า) อ่านว่า เมด-เตย-โย รูปคำเดิมเป็น “เมตฺเตยฺย” อ่านว่า เมด-เตย-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เมตฺตา (ความรักใคร่, เมตตา) + เอยฺย ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ (เมตฺ)-ตา (เมตฺตา > เมตฺต

: เมตฺตา > เมตฺต + เอยฺย = เมตฺเตยฺย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวพันกับเมตตา” หมายถึง ผู้มีความเมตตา

(2) เมตฺติ (ไมตรี, ความเป็นมิตร) + เอยฺย ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (เมตฺ)-ติ (เมตฺติ > เมตฺต

: เมตฺติ > เมตฺต + เอยฺย = เมตฺเตยฺย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวพันกับความเป็นมิตร” หรือ “ผู้เกื้อกูลด้วยเมตตา” หมายถึง ผู้มีไมตรี

เมตฺเตยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เมตฺเตยฺโย” เขียนเป็นคำบาลีแบบไทยเป็น “เมตเตยโย” อ่านว่า เมด-เตย-โย เขียนเป็นคำไทยเป็น “เมตเตยยะ” อ่านว่า เมด-เตย-ยะ 

เมตฺเตยฺย” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “เมตไตรย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เมตไตรย : (คำนาม) พระนามของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า. (ป. เมตฺเตยฺย; ส. เมไตฺรย).”

คำว่า “เมตไตรย” นั้น เรียกเป็นเป็นคำเต็มๆ ว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” แต่เมื่อเรียกนานเข้าคำว่า “เมตไตรย” หดหายไป เหลือแต่ “พระศรีอริย” แล้วเราก็กลายคำว่า “อริย” เป็น “อารย” แล้วสะกดเป็น “อารย์” อ่านว่า อาน 

ดังนั้น จาก “พระศรีอริยเมตไตรย” จึงกลายเป็น “พระศรีอารย์” (พฺระ-สี-อาน) แล้วเลยรู้จักกันในชื่อ “พระศรีอารย์” เวลาเอ่ยถึงพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เราก็พูดกันว่า “ศาสนาพระศรีอารย์

เรียกกันอย่างนั้นมานานจนติดปากติดใจ จะแก้ก็คงยาก ก็ต้องยอมให้เรียกกันอย่างนั้นต่อไป 

แต่พึงเข้าใจและรู้ทันว่า พระนามจริงๆ ของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้านั้นไม่ใช่ “พระศรีอารย์” แต่คือ “พระเมตไตรย” หรือเรียกในที่นี้ว่า “พระเมตเตยยะ

ขยายความ :

เมตเตยโย” หรือ “พระเมตเตยยะ” เป็นนามพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ 5 (ถ้านับพระพุทธเจ้าทั้งหมดในกัปต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรเป็นต้นมา พระเมตเตยยะนับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 26)

ในสมัยพุทธเจ้าของเรา พระเมตเตยยะเกิดเป็นพระอชิตภิกษุ

สรุปสาระสำคัญในประวัติของพระเมตเตยยะ เป็นดังนี้ 

…………..

เมือง = เกตุมดี (พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า สังขะ)

พุทธบิดา = สุพรหมพราหมณ์

พุทธมารดา = พรหมวดี

ครองเรือน = แปดพันปี

ปราสาท 3 ฤดู = สิริวัฒน์ สิทธัตถะ จันทกะ

สนมนารี = หนึ่งแสนนาง

มเหสี = จันทมุขี

พระโอรส = พรหมวัฒนกุมาร

พาหนะในวันออกบวช = ออกบวชพร้อมด้วยปราสาท

บำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ = 7 วัน

สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา = 

     ทรงประกาศพระธรรมจักร มีผู้บรรลุธรรมสามสิบโกฏิ

อัครสาวก = 

พุทธอุปัฏฐาก = 

อัครสาวิกา = 

อัครอุปัฏฐาก = 

อัครอุปัฏฐายิกา= 

ต้นไม้ตรัสรู้ = ต้นนาคะ (กากะทิง)

พระรัศมีจากพระวรกาย = พระฉัพพรรณรังสีแผ่ไปในหมื่นจักรวาลทำให้สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน

พระชนมายุ = แปดหมื่นปี

พระองค์สูง = 88 ศอก

ประชุมสาวก = 

แสดงธรรมครั้งสำคัญ = 

สถานที่ปรินิพพาน = 

พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ = 

ที่มา:

พระคัมภีร์อนาคตวงศ์

นายประภาส สุระเสน คัดถ่ายถอด-แปล

ภิกษุสามเณรวัดตรีทศเทพ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล

ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ

พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ (สุรพงส์ ฐานวโร ป.ธ.5, น.ธ.เอก)

เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ และรองเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต)

ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

วันพุธ ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2540

…………..

แถม :

สัญลักษณ์สัตว์ประจำพระองค์พระเมตเตยยะ ตามคติของคนไทยมักเข้าใจกันว่าเป็น ราชสีห์ ดังปรากฏในภาพพระเจ้าห้าพระองค์ที่เผยแพร่กันทั่วไป

หมายเหตุ : 

สัตว์สัญลักษณ์ประจำพระเจ้าห้าพระองค์ดังที่ปรากฏนั้น ท่านผู้ใดมีหลักฐานว่ามีที่ไปที่มาเป็นประการใด ขอความกรุณานำมาเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ทั้งจะได้แก้ไขความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำให้ถูกต้องต่อไปด้วย

ประวัติพระเมตเตยยะไม่ได้มีมาในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแบบเต็มๆ เหมือนพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ รายละเอียดในสาระสำคัญก็ยังขาดอยู่หลายรายการ 

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบว่ามีกล่าวถึงพระเมตเตยยะหลายแห่ง แต่กล่าวถึงเพียงผิวเผินหรือกล่าวพอผ่านๆ แทบไม่มีรายละเอียดอื่นใด แต่ถึงกระนั้นก็น่าจะอ้างถึงเป็น “ที่มาเบื้องต้น” ไว้ทีหนึ่งก่อน จึงรวบมามาแสดงไว้ในที่นี้ 

ขออนุญาตบอกไว้แบบต้นร่าง คำอ้างอิงตามหลักวิชาจะไม่บอกแบบนี้ ขอให้ผู้สนใจใช้เป็นแนวทางสืบค้นต่อไป 

…………..

พระเมตเตยยะในพระไตรปิฎก

จกฺกวตฺติสุตฺตํ ที.ปาฏิ.11/48

พระเมตเตยยะในอรรถกถา

– สุ.วิ.2/8  สุ.วิ.3/64- 

– สา.ป.3/50 

– มโน.ปู.2/217 (กล่าวถึงอัครสาวกที่สองของพระเมตเตยยะ)

– มโน.ปู.2/303 (กล่าวถึงอัครอุปัฏฐากของพระเมตเตยยะ)

– สทฺธมฺมปชฺโชติกา (จูฬนิทฺเทสวณฺณนา) หน้า 331

– วิสุทฺธชนวิลาสินี (อปทานวณฺณนา) 2/446

– มธุรตฺถวิลาสินี (พุทฺธวํสวณฺณนา) หน้า 456

– อฏฺฐสาลินี (ธมฺมสงฺคณีวณฺณนา) หน้า 724

– ปรมตฺถทีปนี (ปญฺจปกรณวณฺณนา-ปุคฺคลปญฺญตฺติปฺปกรณวณฺณนา) หน้า 154

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อเมตตาไมตรีมีเต็มเปี่ยมในกมลสันดาน

: ศาสนาพระศรีอารย์ก็มาถึงทันที

#บาลีวันละคำ (4,161)

3-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *