บาลีวันละคำ

ญาติโกโหติกา (บาลีวันละคำ 598)

ญาติโกโหติกา

(บาลีไทย-ภาษาปาก)

อ่านว่า ยาด-ติ-โก-โห-ติ-กา

คำหลักคือ “ญาติ” บาลีอ่านว่า ยา-ติ ภาษาไทยอ่านว่า ยาด

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ยา-ติ- หรือ ยาด-ติ-

นอกจาก “ญาติ” บาลียังมีคำว่า “ญาตก” อีกคำหนึ่ง อ่านว่า ยา-ตะ-กะ

ญาตก” เมื่อแจกรูปตามหลักไวยากรณ์ จะเป็น “ญาตโก” (ยา-ตะ-โก) (วิภัตติที่ ๑ เอกพจน์) และ “ญาตกา” (ยา-ตะ-กา) (วิภัตติที่ ๑ พหูพจน์)

ญาตก” เป็นรูปปุงลิงค์ (คำเพศชาย) ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ (คำเพศหญิง) จะเป็น “ญาติกา” (ยา-ติ-กา)

ญาติญาตโกญาตกาญาติกา เป็นคำที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ แต่รูปและเสียงที่คุ้นเป็นหลักคือ “ญาติ” (ยาด, ยาด-ติ) โดยมีเสียง “โก” และ “กา” เป็นคำประกอบ

แล้ว “โหติ” มาอย่างไร ?

โหติ” เป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลว่า “ย่อมมี” “ย่อมเป็น” (verb to be) รากศัพท์คือ หุ (ธาตุ = มี, เป็น) แผลง อุ เป็น โอ + ปัจจัย + ติ วิภัตติ

: หุ > โห + + ติ = โหติ

โหติ” เป็นคำที่พบเห็นดาษดื่นที่สุดในคัมภีร์ คำกริยารากศัพท์เดียวกันนี้ที่ติดปากคนไทยก็อย่างเช่น นิพพานปัจจโย โหตุ, ทีฆายุโก โหตุ, สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ, อิทัง เม ญาตีนัง โหนตุ เป็นต้น

โหติโหตุ รากศัพท์เดียวกัน

สันนิษฐาน :

คนไทยเอาคำว่า “ญาติ” ตั้งเป็นคำหลัก แล้วขยายพยางค์ให้ยาวออกไป (ลักษณะเดียวกับคำสร้อยสี่พยางค์) เอาคำบาลีที่คุ้นปาก คือ “โหติ” มาเสริม เอาเสียง “โก” และ “กา” เป็นคำประกอบ เป็น “ญาติ” (โก) “โหติ” (กา)

ข้อสังเกต :

1. ในคำว่า “ญาติโกโหติกา” นี้ เฉพาะคำหลัก คือ “ญาติ โหติ” (“ญาติ” โก “โหติ” กา) เป็นประโยคบาลีที่ถูกต้องสมบูรณ์ แปลว่า “เป็นญาติกัน

2. พจน.42 เก็บคำว่า “ญาติกา” ไว้ด้วย : ญาติกา [ยาด-ติ-] (คำนาม) ญาติ

ญาติโกโหติกา” เป็นภาษาปากในภาษาไทย มีความหมายว่า “เป็นญาติกัน” มักใช้ในความปฏิเสธ หรือถามเชิงปฏิเสธ เช่น

– เขาไม่ได้เป็น “ญาติโกโหติกา” อะไรกับเราสักหน่อย

– เธอเป็น “ญาติโกโหติกา” กับเขาหรือ

(ความหมายเกี่ยวกับคำว่า “ญาติ” ดูเพิ่มเติมที่ “ญาติ” บาลีวันละคำ (315) 23-3-56 และ “ญาติสาโลหิต” บาลีวันละคำ (316) 24-3-56)

: ไม่มีญาติ แต่มีน้ำใจ – ไม่ไร้ญาติ

: มีญาติ แต่ขาดน้ำใจ – เหมือนไร้ญาติ

——————–

(พระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ ฝากไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว)

4-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย