บาลีวันละคำ

เคารพ (บาลีวันละคำ 599)

เคารพ

อ่านว่า เคา-รบ

บาลีเป็น “คารว” อ่านว่า คา-ระ-วะ

คารว” รากศัพท์มาจาก ครุ + ปัจจัย ลบ

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

– แผลง อุ ที่ รุ เป็น โอ : ครุ = คโร

– แผลง โอ เป็น อว : คโร = ครว

– ยืดเสียงสั้นที่พยางค์แรกเป็นเสียงยาว (ด้วยอำนาจ ปัจจัย) : ครว = คารว

: ครุ > คโร > ครว > คารว

ครุ” แปลว่า (1) ครู, ผู้สอน, ผู้แนะนำ, ผู้ควรเคารพ (2) ใหญ่, หนา, มาก, กว้างขวาง, หนัก, น้ำหนักบรรทุก, สำคัญ (ดูเพิ่มเติมที่ “ครุคุรุ” บาลีวันละคำ (134) 19-9-55)

คารว” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งครุ” หมายถึง การคารวะ, ความเคารพ, ความนับถือ (reverence, respect, esteem) ความยำเกรง, ความนอบน้อม (respect for, reverence towards)

คารว” สันสกฤตเป็น “เคารว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

เคารว” : “เคารพ” กีรติหรือเกียรติ; ความนับถือ; น้ำหนัก, ความหนัก; reputation; respectability; physical weight”

ครุ > คารว > เคารว > เคารพ เราเขียนอิงสันสกฤต เป็น “เคารพ” (แปลง เป็น )

ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า

คารวะ : ความเคารพ, ความนับถือ; แสดงความเคารพ

เคารพ : แสดงอาการนับถือ เช่น เคารพผู้ใหญ่ เคารพธงชาติ; ไม่ล่วงเกิน, ไม่ล่วงละเมิด, เช่น เคารพสิทธิของผู้อื่น

เรื่องตลกที่น่าตระหนก :

ชายคนหนึ่งขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงพร้อมกับยกมือไหว้ เมื่อถูกตำรวจจับ เขาอ้างว่า เขาเคารพกฎจราจรแล้ว มาจับเขาทำไม

อาจารย์ภาษาไทยที่ฟังเรื่องนี้สอนว่า ควรแก้คำว่า “เคารพกฎจราจร” เป็น “ปฏิบัติตามกฎจราจร

อาจารย์ภาษาไทยกับคนขับรถ ใครฉลาดกว่ากัน ?

เคารพ” ไม่ได้หมายถึงยกมือไหว้ กราบ โค้งคำนับ ทำกิริยาหรือเปล่งวาจาใดๆ เพราะนั่นเป็นเพียงกิริยาวาจาตามวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ

ความหมายหลักของ “เคารพ” คือ การให้ความสำคัญต่อบุคคล, สิ่ง, กรณี หรือเรื่องนั้นๆ ด้วยการแสดงออกให้ถูกต้องตามฐานะที่จะพึงปฏิบัติ

: ดึงภาษาลงมาหาความเขลา

: ดันปัญญาของเราให้เข้าถึงอรรถรสของภาษา

โปรดเลือกปฏิบัติด้วยความเคารพ

5-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย