บาลีวันละคำ

ทุมมังกุ (บาลีวันละคำ 1,733)

ทุมมังกุ

เสนอไว้ในวงวรรณ

อ่านว่า ทุม-มัง-กุ

แยกศัพท์เป็น ทุ + มังกุ

(๑) “ทุ

เป็นคําอุปสรรค (อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness)

(๒) “มังกุ

บาลีเขียน “มงฺกุ” อ่านว่า มัง-กุ รากศัพท์มาจาก มกิ (ธาตุ = ประดับ, งาม) + รู ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มกิ > มํกิ > มงฺกิ), แปลง อิ ที่ (ม)-กิ เป็น อะ (มกิ > มก), ลบ ที่ รู ปัจจัยแล้วรัสสะ อู เป็น อุ (รู > อู > อุ)

: มกิ > มํกิ > มงฺกิ > มงฺก + รู > อู = มงฺกู > มงฺกุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “ผู้เขินอาย” (ผู้แต่งตัวงามๆ-โดยเฉพาะสตรีสาว-ในใจมักรู้สึกวูบวาบ นั่นคืออาการของ “มงฺกุ”)

มงฺกุ” เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง โซเซ, งุนงง, เก้อ, ยุ่งยาก, ลำบาก, ไม่พอใจ (staggering, confused, troubled, discontented)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มังกุ ๒ : (คำวิเศษณ์) เก้อ, กระดาก. (ป.).”

…………..

วิจารณ์แทรก :

มังกุ” ตามความหมายนี้เป็นคำที่คนทั่วไปแทบจะไม่รู้จัก น่าแปลกที่พจนานุกรมฯ มีคำนี้เก็บไว้ด้วย

คำบางคำ เช่น “ธรรมสวนะ” มีคนพูดกันทั่วไป แต่พจนานุกรมฯ กลับไม่ได้เก็บคำนี้ไว้

พจนานุกรมฯ จึงเป็นอะไรที่เดาใจยากมากๆ ว่าท่านจะเก็บคำไหนหรือไม่เก็บคำไหนด้วยเหตุผลอะไร

…………..

ทุ + มงฺกุ ซ้อน มฺ

: ทุ + มฺ + มงฺกุ = ทุมฺมงฺกุ แปลว่า “ผู้เก้อยาก

ทุมฺมงฺกุ” :

ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) แปลว่า คนเก้อยาก, คนหน้าด้าน, คนหัวดื้อ

ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง หน้าด้าน, ไม่รู้จักอาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปล  “ทุมฺมงฺกุ” ตามตัวว่า “staggering in a disagreeable manner” (ซวนเซอย่างไม่น่าดู) และบอกความหมายไว้ว่า evil-minded (เก้อยาก, ใจร้าย)

…………..

อภิปราย :

ในพระไตรปิฎกส่วนพระวินัย จะพบข้อความที่แสดงวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของการบัญญัติสิกขาบท (ศีล) ของภิกษุว่ามี 10 ประการ

1 ใน 10 ประการนั้นคือ “ทุมฺมงฺกูนํ  ปุคฺคลานํ  นิคฺคหาย = เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก

ในสมัยหนึ่ง พระภิกษุที่ประพฤติชั่วหรือข้าราชการที่ทำการทุจริตต่างๆ ถ้ายังไม่มีใครรู้ความจริงก็อาจแสดงบทบาทอยู่ในสังคมได้เหมือนปกติ แต่เมื่อใดที่มีผู้รู้ความจริง เมื่อนั้นบุคคลชนิดนั้นก็จะละอายใจและหายหน้าไปจากสังคม นั่นคือสมัยที่บุคคลยัง “เก้อง่าย”

แต่ตกมาถึงสมัยนี้ บุคคลชนิดเช่นนั้น แม้จะมีผู้รู้ความจริง และเจ้าตัวเองก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีผู้รู้ความจริงแล้ว แต่แทนที่จะหายหน้าไปจากสังคม ก็กลับเชิดหน้าอยู่ในสังคมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือสมัยที่บุคคลเป็น “ทุมมังกุ” คือเก้อยาก หรือหน้าด้าน

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอคำว่า “ทุมมังกุ” ไว้ในวงวรรณกรรม

ต่อนี้ไป เมื่อจะตำหนิติเตียนคนที่ประจักษ์แจ้งใจว่าทำทุจริตหรือประพฤติชั่วแน่นอน แต่ยังเสนอหน้าอยู่ในสังคมตามปกติ ขอให้เราเรียกขานบุคคลเช่นนั้นว่าพวก “ทุมมังกุ” เพื่อประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ

๑ เพื่อให้มีคำใหม่เกิดขึ้นในภาษาไทย

๒ เพื่อที่ว่าบุคคลเช่นนั้นหรือสังคมทั่วไปจะได้นึกสงสัยว่าคำนี้แปลว่าอะไร เป็นเหตุให้ได้ศึกษาสืบค้นจนได้ความรู้ และเมื่อความรู้นั้นเป็นความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย อาจเป็นเหตุสะกิดใจให้รู้สึกละอายใจเลิกประพฤติชั่วอีกต่อไป (เล็งผลเลิศ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันว่าทุมมังกุบุคคล คือคนเก้อยากหรือหน้าด้านนั้น

: ถ้าท่านยกย่องด้วยใจจริง

จะต่างอะไรกับให้ที่พักพิงแก่ขโมย

: ถ้าท่านเกรงใจจนไม่กล้าโวย

จะต่างอะไรกับดูต้นทางให้โจร

3-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *