บาลีวันละคำ

ทุกขลาภ (บาลีวันละคำ 600)

ทุกขลาภ

อ่านว่า ทุก-ขะ-ลาบ

บาลีเขียน “ทุกฺขลาภ” อ่านว่า ทุก-ขะ-ลา-พะ

ประกอบด้วย ทุกฺข + ลาภ

ทุกฺข” แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะที่ทำได้ยากที่จะอดทน” (2) “ความสุขที่น่ารังเกียจ” (3) “สภาวะที่ขุดจิตเป็นสองอย่าง” (คล้ายกับสำนวนที่ว่า “หัวใจแตกสลาย”) (4) “สภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์

ในทางธรรม ท่านอธิบายว่า “ทุกข์” คือสภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ เกิด แก่ ตาย การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง

ความหมายที่เข้าใจทั่วไป “ทุกข์” คือความยากลําบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ (grief & sorrow, afflictions of pain & misery, all kinds of misery)

ลาภ” มีความหมายว่า การรับ, การได้, การได้มา, ลาภ, สิ่งที่ได้มา, สมบัติ

ทุกฺข + ลาภ = ทุกฺขลาภ ภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า “ได้มาโดยยาก” “ยากที่จะได้” (“ลาภ” เป็นอาการนาม แปลว่า “การได้” ไม่ใช่หมายถึงสิ่งของที่ได้มา, ส่วน “ทุกฺข” หมายถึง “ยาก” ที่ตรงกันข้ามกับ “ง่าย” คือหมายถึง difficult ไม่ใช่ sorrow)

ตัวอย่าง : “คนที่ชอบคิดฟุ้งซ่าน เมื่อมาปฏิบัติธรรม กว่าจิตจะเป็นสมาธิได้ยากมาก” อย่างนี้คือความหมายของ “ทุกฺขลาภ” ในภาษาบาลี

ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

ทุกขลาภ : การที่ต้องรับทุกข์เสียก่อนจึงมีลาภ, ลาภที่ได้มาด้วยความทุกข์ยาก, ลาภที่ได้มาแล้วมีทุกข์ติดตามมาด้วย”

ส่วนมากเรามักเข้าใจว่า “ทุกขลาภ” คือ ได้อย่างหนึ่งมา แต่เสียอย่างหนึ่งไป หรือได้ลาภมาแล้วมีเหตุร้ายหรือเรื่องยุ่งยากเกิดตามมา (ไม่ว่าเหตุร้ายนั้นจะเกี่ยวกับลาภหรือไม่ก็ตาม) เช่น ถูกหวย แต่ในเวลาต่อมาถูกรถชน เรียกการถูกหวยนั้นว่า “ทุกขลาภ

: ไม่มีลาภ ไม่ใช่ที่สุดของทุกข์

: แต่ไม่มีทุกข์ เป็นที่สุดของลาภ

6-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย