อดิเรกจีวร (บาลีวันละคำ 4,169)
อดิเรกจีวร
อานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครนึกถึง
…………..
ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (คือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย) 5 ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) คือ
(1) จาริกไปไม่ต้องบอกลา
(2) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
(3) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
(4) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
(5) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ
อานิสงส์กฐินทั้ง 5 ข้อนี้ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ
คำหนึ่งที่น่ารู้คือ “เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา”
“อดิเรกจีวร” คืออะไร?
“อดิเรกจีวร” อ่านว่า อะ-ดิ-เหฺรก-กะ-จี-วอน ประกอบด้วยคำว่า อดิเรก + จีวร
(๑) “อดิเรก”
อ่านว่า อะ-ดิ-เหฺรก บาลีเป็น “อติเรก” อ่านว่า อะ-ติ-เร-กะ รูปคำนี้อธิบายกันว่ามาจาก อติ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เกิน, ล่วง) + เอก (เอ-กะ, = หนึ่ง), ลง ร อาคมระหว่างอุปสรรคกับบทหลัง (อติ + ร + เอก)
: อติ + ร + เอก = อติเรก แปลตามศัพท์ว่า “ยิ่งกว่าหนึ่ง” “เกินหนึ่งขึ้นไป” หมายถึง เหลือล้น, มากเกินไป; เกิน, เลย, ในปริมาณที่สูง; พิเศษ (surplus, too much; exceeding, excessive, in a high degree; extra)
บาลี “อติเรก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อติเรก” และ “อดิเรก” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อติเรก, อติเรก– : (คำวิเศษณ์) อดิเรก. (ป., ส.).
(2) อดิเรก, อดิเรก– : (คำวิเศษณ์) พิเศษ. (คำนาม) ชื่อพรพิเศษที่พระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะถวายพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์หรือสามัญชนที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในคําว่า ถวายอดิเรก. (ป., ส.).
(๒) “จีวร”
บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > จ)
: จิ > จ + อีวร = จีวร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ”
จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน
ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice) แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด กล่าวคือ –
(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”
(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”
(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)
รวมผ้าทั้ง 3 ผืนเข้าด้วยกันเรียกว่า “ไตรจีวร”
อติเรก + จีวร = อติเรกจีวร อ่านว่า อะ-ติ-เร-กะ-จี-วะ-ระ ใช้ในภาษาไทยเป็น “อดิเรกจีวร” อ่านว่า อะ-ดิ-เหฺรก-กะ-จี-วอน แต่ใช้เป็น “อติเรกจีวร” อติ– คงเป็น ต เต่า เหมือนรูปเดิมในบาลีก็มี อ่านว่า อะ-ติ-เหฺรก-กะ-จี-วอน แปลว่า “จีวรอันเป็นส่วนเกิน”
คำว่า “อดิเรกจีวร” และ “อติเรกจีวร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
…………..
อติเรกจีวร : จีวรเหลือเฟือ, ผ้าส่วนเกินหมายถึงผ้าที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามานอกจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร และมิได้วิกัปไว้; ตรงข้ามกับ จีวรอธิษฐาน; อดิเรกจีวร ก็เรียก.
…………..
ขยายความ :
เครื่องนุ่งห่มของภิกษุมี 3 ผืน เรียกว่า “ไตรจีวร” ตามพระวินัยกำหนดให้ภิกษุมีไตรจีวรสำหรับใช้นุ่งห่มเพียงชุดเดียว โดยตั้งใจอธิษฐานให้เป็นเครื่องนุ่งห่มแต่ละผืน เรียกว่า “จีวรอธิษฐาน”
เมื่อมีจีวรอธิษฐานใช้อยู่แล้ว หากมีผู้ถวายจีวรให้อีกก็ให้รับไว้ได้ จีวรที่ถวายมาใหม่นี้แหละเรียกว่า “อดิเรกจีวร”
ถ้าภิกษุจะใช้จีวรผืนที่ได้รับมาใหม่ ต้องสละจีวรผืนเดิมเสียก่อน (ตามกฎที่ว่าภิกษุมีไตรจีวรสำหรับใช้นุ่งห่มได้เพียงชุดเดียว) ถ้ายังใช้จีวรชุดเดิมอยู่ จะเก็บจีวรที่ได้มาใหม่ (อดิเรกจีวร) ไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน ถ้าเกินต้องสละ ถ้าไม่สละ มีความผิด คือ “ต้องอาบัติ” ทั้งนี้เว้นไว้แต่ทำ “วิกัป” คือทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของจีวรผืนนั้นด้วย เมื่อทำให้เป็นสองเจ้าของเช่นนี้ ก็ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกจีวรไว้เกินกำหนด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าภิกษุได้กรานกฐิน (ที่เราเรียกกันว่าได้รับกฐิน) จะได้รับสิทธิพิเศษ คือสามารถเก็บ “อดิเรกจีวร” ไว้ได้ตลอดช่วงเวลาที่กำหนดให้หาจีวรชุดใหม่มาเปลี่ยนชุดเดิม คือ 1 เดือนนับจากวันออกพรรษา และถ้าได้กรานกฐินก็ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาต่อจาก 1 เดือนไปอีก 4 เดือน รวมเป็น 5 เดือน สรุปว่า ถ้าได้รับกฐิน ก็ได้สิทธิ์เก็บ “อดิเรกจีวร” ไว้ได้ถึง 5 เดือน (จากเดิมเพียงแค่ 10 วัน)
นี่คือความหมายของอานิสงส์กฐินข้อที่ว่า “เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
อานิสงส์ตามพระวินัยอะไรก็ไม่รู้
ไหนจะสู้เงินล้านแสนแก่นอานิสงส์
สงสารศาสน์บริสุทธิ์ของพระพุทธองค์
มาเรียวลงในรุ่นเราเศร้าจริงจริง
: จะช่วยกันหาเงินไปรักษาพระศาสนา
: หรือจะช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย
#บาลีวันละคำ (4,169)
11-11-66
…………………………….
…………………………….