ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (บาลีวันละคำ 4,177)
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ไตรสรณคมน์ที่สอง
ไตรสรณคมน์เต็ม ๆ เขียนแบบไทยเป็นดังนี้ –
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
“ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ” แต่ละคำมีอธิบายดังนี้ –
(๑) “ธัมมัง”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺมํ” อ่านว่า ทำ-มัง รูปคำเดิมเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างคำอธิบายของอรรถกถา สรุปความหมายของ “ธมฺม” ไว้ 4 อย่าง คือ –
(1) good conduct (ความประพฤติดี)
(2) preaching & moral instruction (การเทศน์และการสั่งสอนทางศีลธรรม)
(3) the 9 fold collection of the Buddh. Scriptures (สัตถุศาสน์มีองค์ 9)
(4) cosmic law (กฎธรรมชาติของสากลจักรวาล)
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ธรฺมฺม” และ “ธรฺม” บอกไว้ดังนี้
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ธรฺมฺม, ธรฺม : (คำนาม) ‘ธรรม,’ สทาจาร, สาธุและธรรมคุณ; ธรรมเนียมหรือประเพณี, ประโยคหรือกริยาประพันธ์, ขนบธรรมเนียม หรือลัทธิรองโคตร์, ชาติ, ฯลฯ; กฤตย์, การย์, น่าที่หรือพรต ( อันพระเวทกำหนดลงไว้เปนอาทิ); ความเหมาะ, คุณสมบัติ; ประกฤติ, ธรรมดา; กีรติ, เกียรติ; ภาวะหรือประพฤติ; ศุจิตา, โทษวิมุกติ์, ความไม่มีโทษ, ความบริสุทธิ์; สมพาท, ความแม้นหรือละม้าย; ยัญหรือการบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง; อุปนิษัทหรืออีศวรภาคแห่งพระเวท; ประโยคหรือกฤตย์ ฉะเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง; ดุจ, การให้ทานเปน ‘ธรรม’ ของคฤหเมธิน; การให้ความยุกติธรรมเปน ‘ธรรม’ ของนฤบดี; ศรัทธาเปน ‘ธรรม’ ของพราหมณ์; ความอุตสาหะเปน ‘ธรรม’ ของกษัตริย์, ฯลฯ; พจน์อันกอปรด้วยกรุณรส; วินัย, กฎหมาย; นามของพระยม, ผู้ปกครองอโธโลก, และทัณฑนายกของผู้ตาย; สทาจารอันโรปยติเปนบุรุษ, เกิดจากอุรัสเบื้องขวาของพระพรหม; ธนู; นรผู้มีธรรม; พลึวรรทหรือวัวที่นั่งของพระศิวะ; virtue, moral and religious merit; usage, custom, practice or the customary observances of caste, sect, &c.; duty (especially laid down or enjoined by the Vedas; fitness, propriety; nature; character; natural state or disposition; innocence, harmlessness, purity; resemblance; any sacrifice; an Upanishad or theological portion of a Veda; any peculiar practice or duty; thus, giving alms is the dharma of a householder; administering justice, the dharma of a king; piety, that of a Brâhmaṇ; courage, that of a Kshatriya, &c; kind speech or discourse; law; a name of Yama, ruler of the lower regions, and judge of the dead; virtue personified, born from the right breast of Brahmâ; a bow; a pious man; the bull of Śiva;- (คำวิเศษณ์) ตามพระธรรมและพระเวท; อันสมาคมกับบุณยชนหรือสาธุชน; according to the law and the Vedas; associating with the virtuous.”
ในภาษาไทย เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คำสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“ธมฺม” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ธมฺมํ” (ทำ-มัง) เขียนแบบไทยเป็น “ธัมมัง” (ไม่มีจุดใต้ ม ตัวหน้า) แปลว่า (ข้าพเจ้าขอถึง) “ซึ่งพระธรรม”
(๒) “สะระณัง”
เขียนแบบบาลีเป็น “สรณํ” อ่านว่า สะ-ระ-นัง รูปคำเดิมเป็น “สรณ” อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี”
“สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)
(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)
(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”
“สรณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สรณํ” (สะ-ระ-นัง) เขียนแบบไทยเป็น “สะระณัง” แปลว่า (ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า) “ว่าเป็นที่พึง”
(๓) “คัจฉามิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “คจฺฉามิ” อ่านว่า คัด-ฉา-มิ เป็นคำกริยาที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยาอาขยาต” กัตตุวาจก อุตตมบุรุษ (ตัวผู้พูดเองเป็นประธานในประโยค) เอกวจนะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวด ภู ธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา (อหํ = ข้าพเจ้า เป็นประธาน), แปลง คมฺ เป็น คจฺฉฺ
: คมฺ > คจฺฉฺ + อ + มิ = คจฺฉมิ > คจฺฉามิ (คัด-ฉา-มิ) แปลว่า (ข้าพเจ้า) “ย่อมถึง”
รวมทั้ง 3 คำเป็นประโยคว่า “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ”
เขียนแบบไทยเป็น “ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ”
แปลยกศัพท์: –
(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า)
คจฺฉามิ = ย่อมถึง
ธมฺมํ = ซึ่งพระธรรม
สรณํ = ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่งที่ระลึก)
แปลโดยพยัญชนะ:
อันว่าข้าพเจ้า ย่อมถึง ซึ่งพระธรรม ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่งที่ระลึก)
แปลโดยอรรถ (แปลเอาความ):
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
(ยังไม่สิ้นกระแสความ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้สรรพคุณยา แต่ไม่กินไม่ทา โรคก็ไม่หาย
: รู้ถ้วนธรรมบรรยาย แต่ไม่ปฏิบัติ กิเลสก็รุมกัดไปจนตาย
#บาลีวันละคำ (4,177)
19-11-66
…………………………….
…………………………….