วรกัป (บาลีวันละคำ 4,182)
วรกัป
กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์
…………..
กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติแยกย่อยเป็น 5 ประเภท ได้แก่ –
(1) สารกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติพระองค์เดียว
(2) มัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 2 พระองค์
(3) วรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์
(4) สารมัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์
(5) ภัทรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์
…………..
“วรกัป” อ่านว่า วะ-ระ-กับ หรือ วอ-ระ-กับ ประกอบด้วยคำว่า วร + กัป
(๑) “วร”
บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)
บาลี “วร” สันสกฤตก็เป็น “วร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) วร : (คำวิเศษณ์) วิศิษฏ์, เลิด; หัวบี (อยู่ในตำแหน่งเปนพี่เอื้อย); best, excellent; eldest.
(2) วร : (คำนาม) พร; การเลือก; การเชิญ, การขอ; การล้อม; สวามิน, ผัว; เจ้าบ่าว; บุตรเขย; สวาท; เภษัชอันชื่อว่า ‘คุคคุล’; ความใคร่, ความปรารถนา; นกกระจอก; a boon or blessing; selecting; requesting, soliciting: surrounding; a husband; a bridegroom; a son-in-law; a catamite; a drug called Guggula; wish, desire; a sparrow.
ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –
(1) วร– [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).
(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).
(๒) “กัป”
อ่านว่า กับ บาลีเป็น “กปฺป” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + อ (อะ) ปัจจัย
: กปฺป + อ = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น”
“กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)
(2) บังเหียน, เครื่องประกอบ, จุดสีดำเล็กๆ, ทำเลศนัย (harness, trapping, a small black dot, a making-up of a trick)
(3) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)
(4) เวลาที่แน่นอน, เวลาที่กำหนดไว้, อายุของโลก (a fixed time, an age of the world)
บาลี “กปฺป” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “กัป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “กัป” ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –
…………..
กัป, กัลป์ : กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาล ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของมนุษย์หรือสัตว์จำพวกนั้นๆ ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า ‘อายุกัป’ เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี
…………..
วร + กปฺป = วรกปฺป (วะ-ระ-กับ-ปะ) แปลว่า “กัปประเสริฐ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วรกัป” (วะ-ระ-กับ หรือ วอ-ระ-กับ)
ขยายความ :
เหตุที่เรียก “วรกัป” มีอธิบายว่า เมื่อโลกเข้าสู่อสุญกัป คือมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เริ่มด้วยมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียงพระองค์เดียว เรียกกัปนั้นว่า “สารกัป” แล้ว กัปต่อ ๆ มามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพิ่มขึ้นเป็น 3 พระองค์ เมื่อเทียบกับกัปที่ผ่านมาก็นับว่าดียิ่งขึ้นไป จึงเรียกกัปนี้ว่า “วรกัป” แปลว่า “กัปประเสริฐ” หมายถึงดีเพิ่มขึ้นยิ่งกว่ากัปที่ผ่านมา
กัปที่เรียกว่า “วรกัป” กำหนดด้วยจำนวนพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในกัปนั้นมี 3 พระองค์ ถ้านับพระทีปังกรเป็นองค์ที่ 1 มี “วรกัป” มาแล้ว 2 ครั้ง พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มีดังนี้ –
วรกัปครั้งที่ 1
(1) พระอโนมทัสสี (องค์ที่ 7)
(2) พระปทุมะ (องค์ที่ 8)
(3) พระนารทะ (องค์ที่ 9)
วรกัปครั้งที่ 2
(1) พระปิยทัสสี (องค์ที่ 13)
(2) พระอัตถทัสสี (องค์ที่ 14)
(3) พระธัมมทัสสี (องค์ที่ 15)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางประเสริฐ
: จะเป็นทางดับหรือทางเกิด เราต้องเดินเอง
#บาลีวันละคำ (4,182)
24-11-66
…………………………….
…………………………….