บาลีวันละคำ

ฉัม (บาลีวันละคำ 4,341)

ฉัม 

ฝากไว้ให้จำ-ชื่อเก่าของธชัคคสูตร

ฉัม” อ่านว่า ฉำ เป็นภาษาปากเรียกธชัคคสูตร พูดอย่างนี้รับรองได้ว่าพระสงฆ์หรือนักสวดมนต์รุ่นใหม่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ต้องถอยไปตั้งหลัก ทำความรู้จักธชัคคสูตรก่อน

ธชัคคสูตร” เป็นพระสูตรหนึ่งในสังยุตนิกาย สคาถวรรค (พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 863-866) เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยใช้ “ยอดธง” เป็นสื่อการสอน

สรุปเรื่องในธชัคคสูตรเป็นดั่งนี้ –

…………..

สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า –

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตได้เกิดเทวาสุรสงคราม (สงครามระหว่างเทวดากับอสูร) ขึ้น ในสงครามนั้นท้าวสักกเทวราชได้เรียกหมู่เทวดาในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาที่พวกเราเข้าสู่สงคราม หากเกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ขอให้ดูยอดธงของเราเถิด ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป หรือมิเช่นนั้นก็ให้ดูยอดธงของปชาบดีเทวราช ยอดธงของวรุณเทวราช หรือยอดธงของอีสานเทวราช (ผู้เป็นแม่ทัพในแนวนั้น ๆ) ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่ก็จักหายไปได้เช่นกัน

เมื่อเทวดาทั้งหลายได้ทำตามดังนั้นแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่ก็หายไปได้บ้าง ไม่หายบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะท้าวสักกะจอมเทพและเทพผู้เป็นจอมทัพในด้านนั้น ๆ เป็นผู้ที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ ยังเป็นผู้กลัว ผู้หวาดสะดุ้ง และยังต้องหลบลี้หนีภัยอยู่

พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุต่อไปว่า –

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่พวกเธอปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า โคนไม้ ในเรือนว่าง หรือจะที่ใดก็ตาม หากเกิดความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าขึ้นมา ขอให้พวกเธอระลึกถึงเราตถาคตเถิด เมื่อพวกเธอระลึกถึงแล้ว อาการเช่นว่านั้นจักหายไป หรือมิเช่นนั้นก็พึงระลึกถึงคุณแห่งพระธรรม หรือคุณแห่งพระอริยสงฆ์เถิด ความกลัว ความสะดุ้งก็จะหายไปได้อย่างแน่นอน เพราะเหตุว่าตถาคตและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นผู้หมดสิ้นสรรพกิเลสาสวะแล้ว หมดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง และเป็นผู้ไม่ต้องหนีภัยใด ๆ อีกต่อไปแล้ว

…………..

เรื่อง เทวาสุรสงคราม ได้มีเล่าไว้ในคัมภีร์ชั้นบาลีหลายแห่ง แต่เรื่องที่มีชื่อเสียงมากและนำมาใช้สวดเป็นพระปริตร คือ ธชัคคสูตรนี้เอง 

พระสูตรนี้มีข้อน่าสังเกตว่า มีคำขึ้นต้นว่า “ภูตะปุพพัง” แปลว่า “เรื่องเคยมีมาแล้ว” คำนี้ใช้ขึ้นต้นเมื่อจะเล่าเรื่องในอดีตที่จดจำกันมาได้ แสดงว่าเทวาสุรสงครามเป็นเรื่องที่เล่ากันมานาน และการนำเรื่องเก่ามาเล่าในคัมภีร์ชั้นบาลีทุกแห่ง จะเป็นเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นก็ตาม ก็เพื่อสาธกธรรม ดังที่เรียกว่า นิทานสุภาษิต 

ในธชัคคสูตรนี้ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องเทวาสุรสงครามตอนนี้มาเล่าก็เพื่อสอนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยในเมื่อเกิดความกลัวขึ้น (น่าจะรวมไปถึงความฟุ้งซ่าน หรือท้อแท้ถดถอยด้วย) เช่นเดียวกับพวกเทพที่เมื่อเข้าสงครามกับอสูร เกิดความกลัวขึ้นก็ดูยอดธงของพระอินทร์ หรือของเทวราชรองลงมาทั้งหลาย 

นี่คือเรื่องย่อของธชัคคสูตร

แล้วคำว่า “ฉัม” มาเกี่ยวกับธชัคคสูตรได้อย่างไร?

ข้อความตอนหนึ่งในธชัคคสูตรมีว่า “ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา” แปลว่า “ความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนพองสยองเกล้าอันใด จักมี

ข้อความว่า “ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา” นี้ มีซ้ำกัน 10 ครั้ง รวมทั้งตอนสรุปลงท้ายอีก 1 ครั้งเป็น 11 ครั้ง เวลาสวดพระสูตรนี้พระท่านก็จะต้องสวดข้อความนี้ซ้ำ 11 เที่ยว

เฉพาะคำว่า “ฉัมภิตัตตัง” นั้น ตรงคำว่า “ฉัม-…” เวลาสวดมักจะลงเสียงหนัก หรือที่ภาษาสวดมนต์เรียกว่า “กระทุ้ง” (ต้องได้ฟังพระรุ่นเก่าสวดจึงจะรู้ว่า สวดลงเสียงหนักหรือ “กระทุ้ง” นั้น สุ้มเสียงเป็นอย่างไร)

ตลอดทั้งพระสูตรมีคำว่า “ฉัม-…” ให้กระทุ้งซ้ำกัน 11 เที่ยว คำว่า “ฉัม-…” จึงติดปาก ติดหู และติดใจ เวลาเรียกชื่อพระสูตรนี้เป็นภาษาปากหรือ “ชื่อเล่น” จึงเรียกกันว่า “ฉัม” 

พระรุ่นเก่าพอพูดว่า “ฉัม” จะรู้กันดีว่าหมายถึงธชัคคสูตร

…………..

ฉัมภิตัตตัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉมฺภิตตฺตํ” อ่านว่า ฉำ-พิ-ตัด-ตัง รูปคำเดิมเป็น “ฉมฺภิตตฺต” แยกศัพท์เป็น ฉมฺภิต (หวาดหวั่น) + ตฺต ปัจจัยในภาวตัทธิต แปลว่า “ความ-” หรือ “การ-”

: ฉมฺภิต + ตฺต = ฉมฺภิตตฺต (ฉำ-พิ-ตัด-ตะ) แปลว่า “ความหวาดหวั่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฉมฺภิตตฺต” ว่า the state of being stiff, paralysis, stupefaction, consternation (ความสะดุ้ง, การเคลื่อนไหวไม่ได้, ความตกใจกลัว, ความงงงัน, ความอกสั่นขวัญหาย) 

ฉมฺภิตตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ฉมฺภิตตฺตํ” เขียนแบบไทยเป็น “ฉัมภิตัตตัง

…………..

ในธชัคคสูตรนี้มีบทพระพุทธคุณ (อิติปิ โสภะคะวาติ) พระธรรมคุณ (สวากขาโตวิญญูหีติ) พระสังฆคุณ (สุปะฏิปันโนโลกัสสาติ) แทรกอยู่ในระหว่างเนื้อพระสูตร พระรุ่นใหม่นิยมสวดลัดตัดข้อความ (อ้างว่าเวลาเร่งรัด) จึงมักสวดแบบ “ชักไส้” คือชักออกมาสวดเฉพาะ “อิติปิ โส ภะคะวาโลกัสสาติ” ข้อความอันเป็นตัวพระสูตรแท้ ๆ ไม่สวด 

ส่วนการสวดเต็มสูตรนิยมสวดเฉพาะภายในวัดในเวลาเข้าพรรษา ซึ่งวัดต่าง ๆ นิยมเวียนสวดพระสูตรสำคัญ ๆ ทั้งหลายสลับกันไปหลังทำวัตรเย็นหรือทำวัตรเช้ามืด ทั้งนี้เพราะมีเวลามากพอ 

ทุกวันนี้ นอกจากไม่สวดเนื้อพระสูตรแล้ว ยังไม่นิยมท่องอีกต่างหาก อ้างว่าท่องไว้ก็ไม่ได้สวด

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์เมืองไทยเวลานี้ที่ท่องจำธชัคคสูตรได้เต็มพระสูตรน่าจะหาไม่ได้แล้ว 

ชั่วเวลาไม่ถึงศตวรรษ วิริยะอุตสาหะของชาววัดเสื่อมลงไปได้ถึงเพียงนี้ 

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออุทิศเนื้อที่บาลีวันละคำวันนี้ให้เป็นที่ประดิษฐานธชัคคสูตร หรือ “ฉัม” เต็มทั้งพระสูตร เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา กับทั้งเพื่อเป็นที่บันทึกเก็บพระสูตรนี้ไว้เป็นหลักฐานเหมือนเก็บสมบัติล้ำค่าไว้ในคลัง ยามต้องการจะได้บอกกล่าวกันว่าธชัคคสูตรบทเต็มมีอยู่ที่บาลีวันละคำอีกแห่งหนึ่ง หาที่ไหนไม่ทัน หันมาที่นี่ พอช่วยได้

ขออาราธนาพระภิกษุสามเณรทั้งปวงจงมีอุตสาหะท่องจำเล่าบ่นธชัคคสูตรบทเต็มให้คล่องขึ้นใจ เลิกใช้วิธีกางหนังสืออ่าน และหมั่นประชุมกันสวดสาธยายเป็นนิตย์ เมื่อสวดถึงคำว่า “ฉัมภิตัตตัง” ก็ให้รักษาท่วงทำนองลีลาของเดิมที่พระรุ่นเก่าท่านสวดกันมาดังที่อธิบายไว้ข้างต้น แล้วช่วยกันจำและเรียกชื่อพระสูตรนี้เป็นภาษาปากว่า “ฉัม” เพื่อรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาววัดให้มีอายุยืนยาวต่อไปเทอญ

…………..

                                   ธชัคคสูตร

          เอวัมเม  สุตัง  ฯ  เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา  สาวัตถิยัง  วิหะระติ  เชตะวะเน  อะนาถะปิณฑิกัสสะ  อาราเม  ฯ  ตัต๎ระ  โข  ภะคะวา  ภิกขู  อามันเตสิ  ภิกขะโวติ  ฯ  ภะทันเตติ  เต  ภิกขู  ภะคะวะโต  ปัจจัสโสสุง  ฯ  ภะคะวา  เอตะทะโวจะ  ฯ

          ภูตะปุพพัง  ภิกขะเว  เทวาสุระสังคาโม  สะมุปัพ๎ยูโฬห  อะโหสิ  ฯ  อะถะ  โข  ภิกขะเว  สักโก  เทวานะมินโท  เทเว  ตาวะติงเส  อามันเตสิ  สะเจ  มาริสา  เทวานัง  สังคามะคะตานัง  อุปปัชเชยยะ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  มะเมวะ  ตัส๎มิง  สะมเย  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  ฯ  มะมัญหิ  โว  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ฯ  โน  เจ  เม  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  อะถะ  ปะชาปะติสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  ฯ  ปะชาปะติสสะ  หิ  โว  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ฯ  โน  เจ  ปะชาปะติสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  อะถะ  วะรุณัสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  ฯ  วะรุณัสสะ  หิ  โว  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ฯ  โน  เจ  วะรุณัสสะ  เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  อะถะ  อีสานัสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  ฯ  อีสานัสสะ  หิ  โว  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะตีติ  ฯ  ตัง  โข  ปะนะ  ภิกขะเว  สักกัสสะ  วา  เทวานะมินทัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ปะชาปะติสสะ  วา  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  วะรุณัสสะ  วา  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  อีสานัสสะ  วา  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหีเยถาปิ  โนปิ  ปะหีเยถะ  ตัง  กิสสะ  เหตุ  สักโก  หิ  ภิกขะเว  เทวานะมินโท  อะวีตะราโค  อะวีตะโทโส  อะวีตะโมโห  ภีรุ  ฉัมภี  อุตตะราสี  ปะลายีติ  ฯ

          อะหัญจะ  โข  ภิกขะเว  เอวัง  วะทามิ  สะเจ  ตุมหากัง  ภิกขะเว  อะรัญญะคะตานัง  วา  รุกขะมูละคะตานัง  วา  สุญญาคาระคะตานัง  วา  อุปปัชเชยยะ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  มะเมวะ  ตัส๎มิง  สะมเย  อะนุสสะเรยยาถะ  อิติปิ  โส  ภะคะวา  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  วิชชาจะระณะสัมปันโน  สุคะโต  โลกะวิทู  อะนุตตะโร  ปุริสะทัมมะสาระถิ  สัตถา  เทวะมะนุสสานัง  พุทโธ  ภะคะวาติ  ฯ  มะมัง  หิ  โว  ภิกขะเว  อะนุสฺสะระตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ฯ  โน  เจ  มัง  อะนุสฺสะเรยยาถะ  อะถะ  ธัมมัง  อะนุสฺสะเรยยาถะ  ส๎วากขาโต  ภะคะวะตา  ธัมโม  สันทิฏฺฐิโก  อะกาลิโก  เอหิปัสสิโก  โอปะนะยิโก  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหีติ  ฯ  ธัมมัง  หิ  โว  ภิกขะเว  อะนุสฺสะระตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ฯ  โน  เจ  ธัมมัง  อะนุสฺสะเรยยาถะ  อะถะ  สังฆัง  อะนุสฺสะเรยยาถะ  สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  อุชุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  ญายะปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  สามีจิปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  ยะทิทัง  จัตตาริ  ปุริสะยุคานิ  อัฏฐะ  ปุริสะปุคคะลา  เอสะ  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  อาหุเนยโย  ปาหุเนยโย  ทักขิเณยโย  อัญชะลีกะระณีโย  อะนุตตะรัง  ปุญญักเขตตัง  โลกัสสาติ  ฯ  สังฆัง  หิ  โว  ภิกขะเว  อะนุสสะระตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหียิสสะติ  ตัง  กิสสะ  เหตุ  ตะถาคะโต  หิ  ภิกขะเว  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  วีตะราโค  วีตะโทโส  วีตะโมโห  อะภีรุ  อัจฉัมภี  อะนุตตะราสี  อะปะลายีติ  ฯ

          อิทะมะโวจะ  ภะคะวา  อิทัง  วัต๎วานะ  สุคะโต  อะถาปะรัง  เอตะทะโวจะ  สัตถา  

                อะรัญเญ รุกขะมูเล วา       สุญญาคาเรวะ ภิกขะโว

                อะนุสสะเรถะ สัมฺพุทธัง      ภะยัง ตุมหากะ โน สิยา

                โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ    โลกะเชฏฐัง นะราสะภัง

                อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ     นิยยานิกัง สุเทสิตัง

                โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ     นิยยานิกัง สุเทสิตัง

                อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ     ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง

                เอวัมพุทธัง สะรันตานัง      ธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว

                ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา      โลมะหังโส น เหสสะตีติ  ฯ 

…………..

หมายเหตุ:

ลีลาการสวดของโบราณ เมื่อถึงสองบาทพระคาถาสุดท้าย …ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส – จะทอดเสียงสูงยาวตรงคำว่า “โส” จนขาดเสียง แล้วจึงต่อด้วย “นะ  เหสสะตีติ” จบบริบูรณ์

ลีลาเช่นนี้น่าฟังยิ่งนัก หวังว่าจะยังมีบางวัดรักษาเอาไว้ได้ – สาธุ.

ที่มาธชัคคสูตร:

สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 863-866

…………..

ข้อเสนอแนะ: นักสวดมนต์ทั้งหลายควรหาคำแปลพระสูตรนี้มาศึกษาต่อไปเพื่อเจริญปัญญา

นักเรียนบาลีที่มีฉันทะอุตสาหะถ้าจะช่วยกันจัดทำคำแปลสลับบาลีเป็นวรรค ๆ เพื่อเทียบภาษาบาลี-ไทย ประกอบคำอธิบาย ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ขออนุโมทนาสาธุการมา ณ ที่นี้ด้วย

……………

ขอนำเฉพาะข้อความตอนท้ายอันเป็นเสมือนคำสรุปมาเสนอไว้พร้อมทั้งคำแปลพอเป็นที่เจริญใจ ดังต่อไปนี้

……………

อิทะมะโวจะ  ภะคะวา  อิทัง  วัตวานะ  สุคะโต  อะถาปะรัง  เอตะทะโวจะ  สัตถา

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า –

อะรัญเญ  รุกขะมูเล  วา

สุญญาคาเรวะ  ภิกขะโว

อะนุสสะเรถะ  สัมพุทธัง

ภะยัง  ตุมหากะ  โน  สิยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี

อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี 

พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด 

ความกลัวจะไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย

โน  เจ  พุทธัง  สะเรยยาถะ

โลกะเชฏฐัง  นะราสะภัง

อะถะ  ธัมมัง  สะเรยยาถะ

นิยยานิกัง  สุเทสิตัง.

ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน 

ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรม

อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว

โน  เจ  ธัมมัง  สะเรยยาถะ

นิยยานิกัง  สุเทสิตัง

อะถะ  สังฆัง  สะเรยยาถะ

ปุญญักเขตตัง  อะนุตตะรัง.

ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรม

อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว

ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์

ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

เอวัมพุทธัง  สะรันตานัง

ธัมมัง  สังฆัญจะ  ภิกขะโว

ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา

โลมะหังโส  นะ  เหสสะตีติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึง

พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ 

ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี 

ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าถามว่า สวดมนต์แล้วได้อะไร

: แต่จงถามว่า ไม่สวดมนต์แล้วได้อะไร

#บาลีวันละคำ (4,341)

1-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *