บาลีวันละคำ

รสชาติ (บาลีวันละคำ 4,342)

รสชาติ

ไม่ใช่ รสชาด

อ่านตามหลักภาษาว่า รด-สะ-ชาด

อ่านตามสะดวกปากว่า รด-ชาด

ประกอบด้วยคำว่า รส + ชาติ

(๑) “รส

บาลีอ่านว่า ระ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + (อะ) ปัจจัย

: รสฺ + = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ” 

(2) (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้) 

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8 ) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”

(๒) “ชาติ” 

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่.

(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8 ) ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์ สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) หมายถึงคำที่นำมาต่อท้ายคำอื่น แต่คำนั้นคงมีความหมายเท่าเดิม (“สกรรถ” : สก = ของตน + อรรถ = ความหมาย)

รส + ชาติ = รสชาติ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รสชาติ : (คำนาม) รส เช่น แกงนี้ไม่มีรสชาติเลย.”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ชาติ” เป็นคำที่เติมเข้ามาเพื่อเป็นอลังการของภาษา คือทำให้รูปคำดูโอ่อ่าขึ้น แต่ความหมายเท่าเดิม “รสชาติ” มีความหมายเท่ากับ “รส” คำเดียว

รสชาติ = รส > สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น

คำแบบเดียวกันนี้ เช่น –

นรชาติ = นร > คน

คชาชาติ = คชา > ช้าง

มนุษยชาติ = มนุษย์ > คน

ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำว่า “รสชาติ” (ระ-สะ-ชา-ติ) พบแต่ “รสชาต” (ระ-สะ-ชา-ตะ) “-ชาต” ที่อยู่ข้างหลังเช่นนี้เป็น “ศัพท์ สกรรถ” เช่นเดียวกับ “-ชาติ” ในภาษาไทย

มีคำอีกคำหนึ่ง ใช้ศัพท์เหมือนกับ “รสชาติ” เพียงแต่สลับหน้า-หลัง คือคำว่า “ชาติรส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า คำนี้อ่านได้ 2 อย่าง คือ อ่านว่า ชา-ติ-รด ก็ได้ อ่านว่า ชาด-ติ-รด ก็ได้ และให้คำนิยามไว้ดังนี้ –

ชาติรส : (คำนาม) รสโดยกำเนิด เช่น รสหวานของน้ำผึ้ง รสเค็มของเกลือ รสขมของบอระเพ็ด. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า คำว่า “ชาติ-” ที่อยู่ข้างหน้าแบบนี้เป็นคำที่แปลความหมายได้ด้วย 

ชาติรส” = รสโดยกำเนิด 

“กำเนิด” แปลจากคำว่า “ชาติ” = การเกิด

ชาติ-” ที่อยู่ข้างหน้าไม่เหมือน “-ชาติ” ที่เติมเข้าข้างหลังแล้วมีความหมายเท่าเดิมเช่น “รสชาติ” 

คำว่า “ชาติ” ที่อยู่หลัง “รส-” สะกดเป็น ชา-ติ คำเดียวกับ “ชาติ” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย ไม่ใช่ “ชาด” ด เด็ก

ชาด” ด เด็ก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชาด : (คำนาม) วัตถุสีแดงสดชนิดหนึ่ง เป็นผงก็มี เป็นก้อนก็มี ใช้ทำยาไทยหรือประสมกับน้ำมันสำหรับประทับตราหรือทาสิ่งของ. (คำวิเศษณ์) สีแดงสดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สีแดงชาด.”

สรุป :

รสชาติชาติ ชา-ติ เป็นคำถูก

รสชาด –ชาด ด เด็ก เป็นคำผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดผิดก็อ่านรู้เรื่อง

: แต่อ่านรู้เรื่องด้วย สะกดถูกด้วยดีกว่า

#บาลีวันละคำ (4,342)

2-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *