บาลีวันละคำ

เกสมัสสุ (บาลีวันละคำ 4,343)

เกสมัสสุ

เรียนบาลีจากภาษาไทยที่เขียนผิด

อ่านว่า เก-สะ-มัด-สุ

ประกอบด้วยคำว่า เกส + มัสสุ

(๑) “เกส” 

อ่านว่า เก-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เก (ศีรษะ, หัว) + สี (ธาตุ = อยู่, นอน) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ สี (สี > )

: เก + สี = เกสี > เกส + = เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่บนศีรษะ” 

(2) เก (ศีรษะ, หัว) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุแล้วแปลง เป็น (ชนฺ > >

: เก + ชนฺ = เกชนฺ + = เกชน > เกช > เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดอยู่บนศีรษะ” 

เกส” (ปุงลิงค์) หมายถึง เส้นผม (the hair of the head) 

บาลี “เกส” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น เกส, เกสา, เกสี; เกศ, เกศา, เกศี 

ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะ “เกศ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

เกศ, เกศ– : (คำแบบ) (คำนาม) ผม, ในบทกลอนใช้หมายถึง หัว ก็มี เช่น ก้มเกศ.”

โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี “เกส” หมายถึง เส้นผม (hair) เท่านั้น แต่ในภาษาไทย “เกศ” หมายถึง หัว (head) ด้วย

(๒) “มัสสุ

เขียนแบบบาลีเป็น “มสฺสุ” อ่านว่า มัด-สุ รากศัพท์มาจาก มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + สุ ปัจจัย

: มสฺ + สุ = มสฺสุ แปลตามศัพท์ว่า “ขนอันเขาลูบคลำ” หมายถึง หนวด, เครา (the beard)

บาลี “มสฺสุ” เขียนแบบไทยเป็น “มัสสุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มัสสุ : (คำนาม) หนวด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระมัสสุ. (ป.).”

ขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบข้อความในโพสต์แห่งหนึ่งเขียนว่า “… ปรงผมบวชแล้ว” เห็นคำว่า “ปรงผม” ก็นึกปลงสังเวช 

“ปรงผม” ป-ร-ง ร เรือ ไม่มี 

มีแต่ “ปลงผม” ป-ล-ง ล ลิง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปลง” และ “ปลงผม” บอกไว้ดังนี้ –

(1) ปลง : (คำกริยา) เอาลง เช่น ปลงหม้อข้าว, ปล่อยหรือเปลื้องให้พ้นไป (ในลักษณะที่รู้สึกว่าหนักอยู่) เช่น ปลงหาบ; เมื่อใช้ประกอบกับคําอื่น มีความหมายต่าง ๆ.

(2) ปลงผม : (คำกริยา) โกนผม (ใช้แก่บรรพชิต).

ส่วนคำว่า “ปรง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ปรง : (คำนาม) (๑) ชื่อเฟิน ๒ ชนิดในสกุล Acrostichum วงศ์ Pteridaceae ต้นเป็นกอขึ้นริมนํ้า ใบยาวเป็นทาง ใบอ่อนสีแดง กินได้ คือ ปรงทะเล (A. aureum L.) และ ปรงหนู (A. speciosum Willd.).(๒) ชื่อพรรณไม้ในกลุ่มพืชเมล็ดเปลือยหลายชนิดในสกุล Cycas วงศ์ Cycadaceae เป็นไม้ต้น ลําต้นรูปทรงกระบอก สีดําขรุขระ ใบเล็กยาวเรียงถี่ ๆ บนแกนกลาง เช่น ปรงญี่ปุ่น (C. revoluta Thunb.) ใบใช้ทําพวงหรีด ปรงเขา (C. pectinata Griff.).”

…………..

คนไทยเดี๋ยวนี้เขียนภาษาไทยอย่าง “รักง่าย” กันมากขึ้น เฉพาะคำนี้ขอยกประโยชน์ให้จำเลยว่า คงเผลอไป ใช้ ร เรือ แทน ล ลิง

แต่ถ้าตั้งใจสะกดอย่างนั้นจริง ๆ เพราะเชื่อว่า “ปรงผม” สะกดอย่างนี้ถูกต้องแล้ว ก็ควรแก่การสังเวชจริง ๆ

สรุปว่า “ปรงผม” ไม่มี อย่าสะกดอย่างนี้ และอย่าเผลอแสะกดอย่างนี้

คำที่ถูกต้องคือ “ปลงผม” (ป-ล-ง ล ลิง) 

ในบาลีมีคำที่แปลเป็นไทยว่า “ปลงผมและหนวด” คำบาลีว่า “เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา” 

เกสมสฺสุํ” อ่านว่า เก-สะ-มัด-สุง รูปคำเดิมเป็น “เกสมสฺสุ” คือที่เอามาตั้งเป็นบาลีวันละคำว่า “เกสมัสสุ” 

เกสมสฺสุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เกสมสฺสุํ” 

ข้อความเต็ม ๆ ของ “เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา” ควรแก่การศึกษา เป็นคำรำพึงหรือความคิดคำนึงของผู้มีจิตศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา 

ขอยกมาให้ศึกษาเพื่อเจริญศรัทธาดังนี้ –

(ความต่อไปนี้เป็นพระพุทธดำรัสตรัสแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ณ สวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงแสดงถึงบุคคลที่สนใจพระพุทธศาสนาจนถึงได้ฟังธรรมแล้วออกบวช)

…………..

โส  ตํ  ธมฺมํ  สุตฺวา  ตถาคเต  สทฺธํ  ปฏิลภติ  ฯ 

ครั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต

โส  เตน  สทฺธาปฏิลาเภน  สมนฺนาคโต  อิติ  ปฏิสญฺจิกฺขติ  

เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า

สมฺพาโธ  ฆราวาโส 

ฆราวาสคับแคบ

รชาปโถ 

เป็นทางมาแห่งธุลี

อพฺโภกาโส  ปพฺพชฺชา 

บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

นยิทํ  สุกรํ  อคารํ  อชฺฌาวสตา  เอกนฺตปริปุณฺณํ  เอกนฺตปริสุทฺธํ  สํขลิขิตํ  พฺรหฺมจริยํ  จริตุํ  

การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย

ยนฺนูนาหํ  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพเชยฺยนฺติ  ฯ 

อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒ เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่เรียนรู้ภาษาไทย ก็ใช้ภาษาผิด

: ไม่เรียนรู้พระไตรปิฎก ก็เข้าใจพระพุทธศาสนาผิด

#บาลีวันละคำ (4,343)

3-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *