บาลีวันละคำ

อรรถคดี (บาลีวันละคำ 848)

อรรถคดี

(บาลีไทย)

อ่านว่า อัด-ถะ-คะ-ดี

เทียบเป็นบาลีว่า “อตฺถคติ” (อัด-ถะ-คะ-ติ)

ประกอบด้วย อตฺถ + คติ

อตฺถ” มีความหมายหลายอย่าง เช่น –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

อตฺถ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

คดี” บาลีเป็น “คติ” (คะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การไป” แต่มีความหมายอย่างอื่นอีก คือ การจากไป, การผ่านไป, ทางไป, ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่ไปเกิด, ทิศทาง, แนวทาง, วิถีชีวิต, ความเป็นไป, แบบอย่าง, วิธี

คติ” แปลงเป็น “คดี” ในภาษาไทย เกิดความหมายใหม่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คดี : (คำนาม) เรื่อง, มักใช้ประกอบคําศัพท์ เช่น โบราณคดี คดีโลก คดีธรรม วรรณคดี สารคดี; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เรื่องหรือความที่ฟ้องร้องหรือกล่าวหากันในทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง. (ป. คติ).”

อตฺถ + คติ = อตฺถคติ > อรรถคดี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถคดี : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) เรื่องที่ฟ้องร้องกันในศาล.”

ข้อสังเกต :

(1) คำว่า “อตฺถอรรถ” ในภาษาบาลีที่น่าจะมีความหมายเกี่ยวกับ “เรื่องที่ฟ้องร้องกันในศาล” คือความหมายตามข้อ (4) ความหมายนี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า affair, cause, case

(2) “เรื่องที่ฟ้องร้องกันในศาล” ภาษาอังกฤษคำตรงๆ คือ lawsuit แต่ไม่มีในคำแปลคำว่า “อตฺถ

(3) “เรื่องที่ฟ้องร้องกันในศาล” ภาษาบาลีมีคำตรงว่า “อฏฺฏ” (อัด-ตะ) โปรดสังเกตรูปและเสียง จะเห็นว่าใกล้เคียงกับ “อตฺถ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อฏฺฏ” เป็นภาษาอังกฤษว่า lawsuit, case, cause

(4) พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า lawsuit เป็นบาลีว่า (๑) aṭṭa อฏฺฏ (อัด-ตะ) (๒) adhikaraṇa อธิกรณ (อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ) คำนี้คือที่ใช้ในทางวินัยสงฆ์ว่า “อธิกรณ์” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า เหตุ, โทษ, คดี, เรื่องราว

(5) ในภาษาไทย มีคำว่า เป็นความ, คดีความ, หมอความ, ว่าความ และแม้แต่ “ความ” คำเดียวก็ยังหมายถึง “คดีที่ฟ้องร้องกันในโรงศาล” (พจน.54)

(6) “อตฺถ” ในบาลีตามความหมายในข้อ (3) ข้างต้น คือ “เนื้อความ, ความหมาย” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “ความ” ในภาษาไทยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น อตฺถ, ความ, อฏฺฏ, อรรถคดี จึงมีความหมายพัลวันกันอยางมีนัยสำคัญ ด้วยประการฉะนี้

: กฎหมายยุติได้เพียงแค่อรรถคดี

: แต่น้ำใจไมตรียุติไปถึงความเป็นศัตรู

บาลีวันละคำ (848)

13-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *