คฺรีเมขลํ – ค๎รีเมขะลัง (บาลีวันละคำ 4,349)
คฺรีเมขลํ – ค๎รีเมขะลัง
เขียนอย่างนี้ สวดอย่างไหน
“คฺรีเมขลํ – ค๎รีเมขะลัง” เป็นคำที่มีอยู่ใน “คาถาพาหุง” ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ชยมังคลัฏฐกคาถา”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้
…………..
ชยมังคลัฏฐกคาถา : “คาถาว่าด้วยหมวด ๘ แห่งชัยมงคล” ได้แก่ คาถาอันแสดงมงคลคือชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ เรื่อง ดังนี้
๑. ทรงชนะมาร ด้วยพระบารมีธรรมมีทานเป็นต้น
๒. ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ด้วยพระขันติ
๓. ทรงชนะช้างนาฬาคีรีที่ตกมัน ด้วยพระเมตตา
๔. ทรงชนะโจรองคุลิมาล ด้วยการดลฤทธิ์
๕. ทรงชนะนางจิญจมาณวิกา ด้วยความสงบเย็นพระทัยเป็นสันติธรรม
๖. ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ ด้วยพระปัญญา
๗. ทรงชนะนันโทปนันทนาคราช ด้วยทรงอนุญาตการใช้ฤทธิ์ แก่พระมหาโมคคัลลานะ
๘. ทรงชนะพระพรหมนามว่าพกะ (คนไทยเรียกว่า พกาพรหม) ด้วยพระญาณหยั่งรู้
…………..
“คาถาพาหุง” ท่านแต่งเป็นวสันตดิลกฉันท์ บทแรกมีข้อความดังนี้ –
…………..
เขียนแบบบาลี:
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน:
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ค๎รีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
แปลดังนี้ –
พระจอมมุนีได้ชนะพญามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน
ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสารคิริเมขลาพร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก
ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมีเป็นต้น
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านเทอญ.
…………..
คำที่ยกขึ้นมาเป็นบาลีวันละคำ คือ “คฺรีเมขลํ” หรือ “ค๎รีเมขะลัง”
คำนี้เป็นชื่อช้าง ชื่อจริง ๆ คือ “คิริเมขล” (คิ-ริ-เม-ขะ-ละ) แต่ในบทพาหุงแต่ละวรรคจำกัดด้วยจำนวนคำไม่เกิน 14 พยางค์ ถ้าใช้คำจริงก็ต้องเป็น –
…………..
คิริเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
(คิ-ริ-เม-ขะ-ลัง อุ-ทิ-ตะ-โฆ-ระ-สะ-เส-นะ-มา-รัง)
…………..
นับได้ 15 พยางค์ เกินไป 1 พยางค์
ท่านจึงใช้สิทธิ์ที่เรียกว่า “ฉันทานุรักษ์” คือปรับวิธีเขียนคำว่า “คิริเมขลํ” โดยเฉพาะคำว่า “คิริ-” เขียนเป็น “คฺรี-” คิ เป็น คฺ (มีจุดใต้ คฺ) และทีฆะ –ริ– เป็น –รี– ทำให้ต้องอ่านว่า คฺรี (ค กับ ร อ่านควบ ไม่ใช่ คะ-รี) เขียนแบบคำอ่านเป็น ค๎รี-
จาก “คิริ-” 2 พยางค์กลายเป็น “คฺรี-” พยางค์เดียว ทำให้จำนวนพยางค์ไม่เกินกำหนด คือเป็น 14 พยางค์ตามเกณฑ์
เพราะฉะนั้น คำนี้ถ้าเขียนแบบบาลีต้องเขียนเป็น “คฺรีเมขลํ” (มีจุดใต้ คฺ) ถ้าเขียนแบบคำอ่าน ต้องเขียนเป็น “ค๎รีเมขะลัง” (มีเครื่องหมายพิเศษบน ค = ค๎) อ่านเป็นพยางค์เดียว คือ คฺรี (ค กับ ร อ่านควบ ไม่ใช่ คะ-รี)
.
และโปรดสังเกต คำนี้ คฺรี– หรือ ค๎รี– ร เรือ ไม่ใช่ ล ลิง ระวังอย่าสะกดผิดเป็น คฺลี– หรือ ค๎ลี–
อภิปรายขยายความ :
บทพาหุงตรงคำว่า “คฺรีเมขลํ” (ค๎รีเมขะลัง) ถ้าฟังพระสวด-โดยเฉพาะวัดมหานิกาย-จะได้ยินท่านออกเสียงเป็น คี-รี-เม-ขะ-ลัง แทบทุกวัด ส่วนวัดธรรมยุตถ้าสวดทำนองมคธ ก็ยังพอได้ยินออกเสียงเป็น คฺรี-เม-ขะ-ลัง ชัดเจนอยู่บ้าง
ชื่อช้างตัวนี้ ตรวจดูในคัมภีร์บาลี พบในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา สะกดเป็น “คิริเมขล” ทุกแห่ง
คิริ- สระ อิ 2 ตัว เหมือนคำว่า ชิมิ
ไม่ใช่ คีรี- สระ อี 2 ตัว เหมือนคำว่า ทีวี
แต่ในบทพาหุง ท่านแปลงรูป “คิริ-” เป็น “คฺรี-” –รี สระ อี เพื่อให้เป็นพยางค์เดียว และเป็นสระเสียงยาวหรือคำครุเสมอกับคำแรกของทุกวรรค (คำแรกของทุกวรรคในบทพาหุงเป็นคำครุทั้งหมด)
ถ้าคณะสงฆ์จะกรุณาสั่งให้ทุกวัดหมั่นซ้อมสวดมนต์ และกวดขันให้ออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธีบาลี ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก
เทพยดาที่คอยสดับพระสงฆ์สวดมนต์อยู่ทุกชั้นฟ้าจะเกิดศรัทธาโสมนัส มีเมตตาไมตรีจิตพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาให้สถิตสถาพรอยู่คู่แผ่นดินไทยและอำนวยสันติสุขให้แก่ชาวโลกไปตลอดกาลนาน
ทำไฉนหนอ เสียงเล็ก ๆ เบา ๆ ของผู้เขียนบาลีวันละคำจึงจะดังไปถึงหูรู้ไปถึงตาของผู้บริหารการพระศาสนา?
ท่านผู้ใดฉลาดหลักแหลมรู้วิธี ขอเชิญร่วมด้วยช่วยกันคิดเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท้องอิ่ม
ถ้าใจไม่อิ่ม ก็จะหิวไปตลอดกาล
: สวดมนต์ช่วยให้ท้องอิ่มไม่ได้
: แต่ช่วยให้ใจอิ่มได้
—————-
ภาพประกอบ: ภาพผจญมาร วิหารหลวงวัดมหาธาตุ เพชรบุรี
#บาลีวันละคำ (4,349)
9-5-67
…………………………….
…………………………….