สืบสันตติวงศ์ กับ ปราบดาภิเษก (บาลีวันละคำ 1,594)
สืบสันตติวงศ์ กับ ปราบดาภิเษก
ต่างกันอย่างไร?
(๑) “สืบสันตติวงศ์” (สืบ-สัน-ตะ-ติ-วง)
คำหลักคือ “สันตติ” บาลีเขียน “สนฺตติ” อ่านว่า สัน-ตะ-ติ รากศัพท์มาจาก –
1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตา (ธาตุ = สืบต่อ) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น น (สํ > สนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ตา (ตา > ต)
: สํ > สนฺ + ตา = สนฺตา + ติ = สนฺตาติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่สืบต่อด้วยดี”
2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น น (สํ > สนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ตนฺ > ต)
: สํ > สนฺ + ตนฺ = สนฺตนฺ + ติ = สนฺตนฺติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่ขยายออกไปโดยชอบ”
“สนฺตติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง –
(1) ความสืบต่อ, การต่อเนื่อง, ระยะยาว, การยังมีชีวิตอยู่ (continuity, duration, subsistence)
(2) เชื้อสาย (lineage)
ความหมายในทางธรรม คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน เช่น ร่างกายตอนเป็นเด็กดับไปแล้ว แต่ส่งผลสืบเนื่องมาเป็นร่างกายในปัจจุบัน กล่าวเป็นหลักว่า “สันตติปิดบังอนิจจัง” = เพราะมีการสืบต่อจึงหลงผิดว่าเที่ยง
ความหมายในทางสังคม คือ การสืบทอดตำแหน่งโดยผู้ที่เป็นเชื้อสาย คือจากพ่อสู่ลูก สู่หลาน ที่พูดกันว่า “สืบสันตติวงศ์”
ระวัง : “สืบสันตติวงศ์” (สัน-ตะ-ติ-วง) อย่าพูดผิดเป็น “สืบสันติวงศ์” (สัน-ติ-วง)
“สันตติ” = สืบทอด, เชื้อสาย
“สันติ” = ความสงบ, ความราบรื่น
คนละเรื่องกัน แม้จะลากความไปว่า “สืบทอดตำแหน่งโดยสงบราบรื่น” ก็ยังเป็นคนละเรื่องกันอยู่นั่นเอง
(๒) “ปราบดาภิเษก” (ปฺราบ-ดา-พิ-เสก)
เป็นรูปคำสันสกฤต ประกอบด้วย ปฺราปฺต + อภิเษก บาลีเป็น ปตฺต + อภิเสก
1) “ปตฺต”
เป็นรูปคำกริยา (ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “กิริยากิตก์”) อดีตกาล และใช้เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ได้รับ, บรรลุ, ได้มา, ถึง (obtained, attained, got, reached)
2) “อภิเษก”
บาลีเป็น “อภิเสก” (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า การอภิเษก, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์) (anointing, consecration, inauguration [as king])
ในภาษาไทยใช้ว่า “อภิเษก” พจน.54 บอกความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”
“อภิเสก – อภิเษก” ความหมายเดิมคือทำพิธีรดน้ำเพื่อประกาศสถานภาพบางอย่าง เช่นความเป็นกษัตริย์ ความเป็นคู่ครอง เมื่อเอาคำนี้มาใช้ในวัฒนธรรมไทยความหมายก็ค่อยๆ กลายเป็นว่า ทำพิธีในวาระสำคัญ ทำพิธีเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
ปตฺต + อภิเสก = ปตฺตาภิเสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการอภิเษกอันตนบรรลุแล้ว” = บรรลุถึงการอภิเษก, ได้รับการอภิเษก หมายถึงได้รับราชสมบัติ-เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
“ปตฺตาภิเสก” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า after consecration (ได้รับการอภิเษก)
ปตฺตาภิเสก > ปฺราปฺตาภิเษก (< ปฺราปฺต + อภิเษก) มาเป็น “ปราบดาภิเษก” ได้อย่างไร
(1) ตฺ ตัวสะกดในบาลี เป็น ปฺ ในสันสกฤต เช่น สตฺตาห เป็น สปฺตาห
ดังนั้น ในที่นี้ ปตฺ– ในบาลี ก็เป็น ปฺราปฺ– ในสันสกฤตได้
(2) –ปฺต– ในสันสกฤต เป็น –ปด– ในภาษาไทย เช่น สปฺต ในคำว่า “สปฺตาห” เป็น สัปด คือ “สัปดาห์”
ปฺราปฺตา– จึงเป็น ปราปดา– แล้วแปลง ป ปลา เป็น บ ใบไม้ อีกทีหนึ่ง
(3) : ปตฺตา– > ปฺราปฺตา– > ปราปดา– > ปราบดา + อภิเษก = ปราบดาภิเษก
พอดีรูปและเสียงคำว่า “ปราป-” ใกล้กับคำว่า “ปราบ” ในภาษาไทยซึ่งหมายถึงทําให้ราบ, ทําให้อยู่ในอํานาจ คำว่า “ปราบดาภิเษก” จึงให้ชวนให้เข้าใจว่า หมายถึงการขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยการ “ปราบ” ฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบลงเสียก่อน (ความหมายใน พจน.42 ก็มีนัยเช่นนี้)
……….
ตามความหมายหลักที่เข้าใจกันมาแต่เดิมนั้น การขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นในโลกนี้ก็มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ –
(1) แบบ “สืบสันตติวงศ์” คือครองราชสมบัติสืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน คือผู้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นั้นอยู่ในลำดับที่มีสิทธิ์จะได้รับราชสมบัติ
(2) แบบ “ปราบดาภิเษก” คือตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ จะโดยรบชนะฝ่ายตรงข้ามหรือโดยแยกตัวไปจับจองดินแดนตั้งบ้านเมืองของตัวเองขึ้นมาใหม่ก็ตาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“สืบราชสันตติวงศ์ : (คำกริยา) ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์, สืบสันตติวงศ์ ก็ว่า.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามเป็น –
“สืบราชสันตติวงศ์ : (คำกริยา) ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗, สืบสันตติวงศ์ ก็ว่า.
คือเพิ่มคำว่า “พ.ศ. ๒๔๖๗” ท้ายคำว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์”
ส่วนคำว่า “ปราบดาภิเษก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ปราบดาภิเษก : (คำวิเศษณ์) มีอภิเษกอันถึงแล้ว. (คำนาม) พระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก. (ส. ปฺราปฺต + อภิเษก).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามเป็น –
“ปราบดาภิเษก : (คำวิเศษณ์) มีอภิเษกอันถึงแล้ว. (คำโบราณ) (คำนาม) พระราชพิธีขึ้นเสวยราชสมบัติหรือได้ราชสมบัติ. (ส. ปฺราปฺต + อภิเษก).”
คือแก้ไขจากความว่า “พระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก” เป็น “พระราชพิธีขึ้นเสวยราชสมบัติหรือได้ราชสมบัติ” (ไม่ระบุว่าได้ราชสมบัติมาด้วยวิธีใด)
……………
: ไม่ว่าจะสืบสันตติวงศ์หรือปราบดาภิเษก
: เป้าหมายที่เป็นเอก คือสันติสุขของแผ่นดินและพสกนิกร
15-10-59