บาลีวันละคำ

กัจจายนะ (บาลีวันละคำ 4,353)

กัจจายนะ

ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

กัจจายนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “กจฺจายน” อ่านว่า กัด-จา-ยะ-นะ เป็นคำจำพวกที่ภาษาบาลีเรียกว่า “อสาธารณนาม” คำอังกฤษเรียกว่า proper name 

ที่บอกคำอังกฤษไว้ด้วยนี้ ไม่ได้มุ่งจะแสดงว่าผู้เขียนบาลีวันละคำรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี แต่มุ่งจะให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำได้ง่ายขึ้น เหตุผลคือ คนสมัยนี้เข้าใจความหมายจากภาษาอังกฤษได้ง่ายกว่าเข้าใจจากคำบาลี

ถามว่า “อสาธารณนาม” หมายถึงอะไร เข้าใจยาก

ถามว่า proper name หมายถึงอะไร เข้าใจง่ายกว่า

“อสาธารณนาม” แปลว่า “ชื่อที่ไม่ทั่วไป” ไวยากรณ์ไทยเรียก “วิสามานยนาม” เรียกง่าย ๆ ว่า ชื่อเฉพาะ หมายถึงชื่อที่ระบุถึงคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะตัว ไม่ทั่วไปแก่คนอื่นสิ่งอื่น

คำว่า “กจฺจายน” เป็นชื่อเฉพาะตัวของบุคคลผู้หนึ่ง

ถามว่า “กจฺจายน” มีความหมายว่าอย่างไรหรือแปลว่าอะไร?

หนังสือบาลีไวยากรณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในส่วนวจีวิภาค ว่าด้วยสมาสและตัทธิต กล่าวถึงโคตตตัทธิต (โคด-ตะ-ตัด-ทิด) ว่า มีปัจจัย 8 ตัว คือ ณ, ณายน, ณาน, เณยฺย, ณิ, ณิก, ณว, เณร แสดงตัวอย่างศัพท์ที่ลง ณายน (นา-ยะ-นะ) ปัจจัย ว่า –

กจฺจสฺส  อปจฺจํ  กจฺจายโน 

เหล่ากอแห่งกัจจะ ชื่อกัจจายนะ

ที่มา: บาลีไวยกรณ์: วจีวิภาค: สมาสและตัทธิต หน้า 135

…………..

ได้ความตามสูตรที่อ้างนี้ว่า เพราะเป็นเหล่ากอแห่งกัจจะ จึงชื่อว่า “กจฺจายน” พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชื่อ “กจฺจายน” แปลว่า “เหล่ากอแห่งกัจจะ

ตามสูตรที่อ้าง “กจฺจายน” แยกศัพท์ได้ว่า กจฺจ + ณายน ปัจจัย 

ณายน” ปัจจัยตัวนี้ใช้แทนคำว่า “โคตฺต” (โคด-ตะ) ที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “โคตร” หมายถึง เทือกเถาเหล่าหรือวงศ์ตระกูล

กจฺจ + ณายน ปัจจัย ลบ ตามกฎของปัจจัยที่เนื่องด้วย (ณายน > อายน)

: กจฺจ + ณายน = กจฺจณายน > กจฺจายน อ่านว่า กัด-จา-ยะ-นะ

กจฺจายน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กัจจายนะ” แปลว่า “เหล่ากอแห่งกัจจะ” หมายถึง ผู้สืบเชื่อสายหรือมีเทือกเถาเหล่ามาจาก “กัจจะ

แล้ว “กัจจะ” นี่คือใคร หรือคืออะไร หรือแปลว่าอะไร?

ขยายความ :

คัมภีร์อภิธานวรรณนา พระมหาสมปอง มุทิโต ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานวิหารธรรม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี เป็นผู้แปล คาถาที่ 336 หน้า 414 อธิบายชื่อ “ภัททกัจจานา” (แปลว่า “พระนางกัจจานาผู้งดงาม”) ซึ่งเป็นนามหนึ่งของพระนางพิมพา ว่า ที่ชื่อ “กัจจานา” เพราะเป็น “พระธิดาของพระเจ้ากัจจะ”

ได้ความว่า คำว่า “กัจจะ” เป็นชื่อของพระราชาก็มี

ในวินัยปิฎกตอนว่าด้วยปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 2 ว่าด้วยภิกษุด่ากัน แสดงไว้ว่า เรื่องที่ยกขึ้นมาด่ากันเรื่องหนึ่งคือ “โคตร” หรือวงศ์ตระกูล พระวินัยปิฎกขยายความเรื่องโคตรไว้ตามคำแปลดังนี้ –

…………..

ที่ชื่อว่า โคตร หมายถึง วงศ์ตระกูล มี 2 ระดับ คือ วงศ์ตระกูลต่ำ 1 วงศ์ตระกูลสูง 1 

วงศ์ตระกูลต่ำ ได้แก่ วงศ์ตระกูลภารทวาชะ หรือวงศ์ตระกูลที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่เป็นที่นับถือกันในถิ่นนั้น ๆ นี้ชื่อว่าวงศ์ตระกูลต่ำ

วงศ์ตระกูลสูง ได้แก่ วงศ์ตระกูลโคตมะ วงศ์ตระกูลโมคคัลลานะ วงศ์ตระกูลกัจจายนะ วงศ์ตระกูลวาเสฏฐะ หรือวงศ์ตระกูลที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น เป็นที่นับถือกันในถิ่นนั้น ๆ นี้ชื่อว่าวงศ์ตระกูลสูง

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 189

…………..

ได้ความตามพระวินัยปิฎกตอนนี้ว่า “กัจจายนะ” เป็นวงศ์ตระกูลสูง 

แต่ก็ไม่ได้บอกว่า “กัจจะ” มีความหมายว่าอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีตำราบาลีที่จะสืบค้นไปได้มากกว่านี้ นักเรียนบาลีท่านใดมีแหล่งที่สามารถสืบค้นได้กว้างไกลกว่านี้ว่า “กัจจะ” มีความหมายว่าอย่างไร ถ้าจะกรุณาเข้ามาช่วยบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง 

แถม :

ชื่อ “กัจจายนะ” ที่คุ้นกันดีในแวดวงชาวพุทธ น่าจะเป็น “มหากัจจายนะ” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บรรยายไว้ดังนี้ –

…………..

มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุอรหัตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง 

ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร 

มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่า ท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่า ให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตน หรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป 

นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่าน เพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง; มหากัจจานะ ก็เรียก 

…………..

ในแวดวงนักเรียนบาลี คำว่า “กัจจายนะ” เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงคัมภีร์ไวยากรณ์บาลีสายหนึ่ง สอดคล้องกับอรรถกถาคัมภีร์อปทาน ตอนอธิบายเรื่องพระมหากัจจายนะ ที่ขยายความไว้ว่า –

…………..

อตฺตโน  ปุพฺพปตฺถนาวเสน  กจฺจายนปฺปกรณํ  มหานิรุตฺติปฺปกรณํ  เนตฺติปฺปกรณนฺติ  ปกรณตฺตยํ  สงฺฆมชฺเฌ  พฺยากาสิ  ฯ

ด้วยอำนาจความปรารถนาที่ตั้งไว้ในอดีตชาติของตน พระมหากัจจายนะจึงได้แสดงปกรณ์ทั้ง 3 ให้ปรากฏในท่ามกลางสงฆ์ คือ กัจจายนปกรณ์ มหานิรุตติปกรณ์ และเนตติปกรณ์ 

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 2 หน้า 358 

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผู้อธิบายอะไร ๆ ให้คนอื่นฟัง มี 2 ประเภท –

: ประเภทหนึ่ง อธิบายด้วยเจตนาจะบอกให้คนอื่นรู้อะไร

: อีกประเภทหนึ่ง อธิบายด้วยเจตนาจะบอกคนอื่นว่าข้าพเจ้ารู้อะไร

—————–

(ตามคำขอของนักเรียนบาลีประโยค 9 ท่านหนึ่ง)

#บาลีวันละคำ (4,353)

13-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *