โล่ (บาลีวันละคำ 4,484)
โล่
แม้แต่คนไม่โง่ก็ยังสะกดเป็น “โล่ห์” อยู่นั่นแหละ
(ใครจะทำไม)
คำที่หมายถึง “สิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงโล่สำหรับมอบแก่ผู้ชนะการแข่งขันกีฬาเป็นต้น” คำไทยสะกดเป็น “โล่”
“โล่” สระโอ ล ลิง ไม้เอก ไม่มีอักษรอื่นใดใส่การันต์ตามหลัง
คือสะกดเป็น “โล่”
ไม่ใช่ “โล่ห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่สะกดเป็น “โล่” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) โล่ ๑ : (คำนาม) ชื่อแพรชนิดหนึ่งเส้นไหมโปร่ง, ใช้เรียกผ้าบาง ๆ ก็มี เช่น ผ้าป่านโล่.
(2) โล่ ๒ : (คำนาม) เครื่องปิดป้องศัตราวุธ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยโลหะหรือหนังดิบ ด้านหลังมีที่จับ, มักใช้คู่กับดาบหรือหอก, โดยปริยายหมายถึงการเอาคนหรือสิ่งอื่นต่างโล่เพื่อกันความเสียหายแก่ตัว; สิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงโล่สำหรับมอบแก่ผู้ชนะการแข่งขันกีฬาเป็นต้น.
สิ่งที่ผู้ชนะการแข่งขันเข้าไปรับ คือ “โล่”
ไม่ใช้-ผู้ชนะการแข่งขันเข้าไปรับโล่ห์
คำที่สะกดเป็น “โล่ห์” มี ห การันต์ ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พูดอีกนัยหนึ่งว่า “โล่ห์” มี ห การันต์ ไม่มีใช้ในภาษาไทยปัจจุบัน
หนังสือไทยรุ่นเก่า-ก่อนที่จะมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นมาตรฐานในการสะกดคำ อาจจะมีที่สะกดเป็น “โล่ห์” แต่ภาษาไทยในปัจจุบันเลิกสะกดแบบนั้นแล้ว กำหนดให้สะกดเป็น “โล่” ไม่ต้องมี ห การันต์
ผู้สะกด “โล่ห์” มี ห การันต์ อธิบายเหตุผลว่า เครื่องปิดป้องศัตราวุธนั้นแรกเริ่มเดิมทีทำด้วยโลหะ ดังที่พจนานุกรมฯ เองก็มีคำนิยามว่า “เครื่องปิดป้องศัตราวุธ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยโลหะหรือหนังดิบ”
ที่สะกดเป็น “โล่ห์” มี ห การันต์ จึงเป็นการสื่อให้รู้ว่าของสิ่งนั้นทำด้วยโลหะ การสะกดเป็น “โล่ห์” จึงใช้ได้ ไม่ผิด
คำอธิบายนี้มีปัญหา คือ ถ้าเครื่องปิดป้องศัตราวุธนั้นทำด้วยหนังดิบ ไม่ได้ทำด้วยโลหะ การสะกดเป็น “โล่ห์” มี ห การันต์ ก็ผิดความจริง และตามความจริงนั้น มนุษย์รู้จักหนังดิบก่อนที่จะรู้จักโลหะ เครื่องปิดป้องศัตราวุธแรกเริ่มเดิมทีน่าจะทำด้วยหนังดิบ ไม่ใช่ทำด้วยโลหะ
แต่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรหรือมีปัญหาอย่างไร ข้อยุติคือ ปัจจุบันนี้คำนี้สะกดเป็น “โล่” ไม่ใช่ “โล่ห์”
และถึงอย่างไรก็ควรถือเป็นโอกาสหาความรู้คำว่า “โลหะ” ไปด้วย
“โลหะ” เขียนแบบบาลีเป็น “โลห” อ่านว่า โล-หะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ลุ (ธาตุ = ตัด) + ห ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ลุ เป็น โอ (ลุ > โล)
: ลุ + ห = ลุห > โลห แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องตัด”
(2) ลุ (ตัดมาจากคำว่า “ลุนนฺต” = ตัด) + หา (ธาตุ = สละ, ทิ้ง) + อ (อะ) ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหน้า” หรือ “ลบสระที่สุดธาตุ” คือลบ อา ที่ หา (หา > ห), แผลง อุ ที่ ลุ เป็น โอ (ลุ > โล)
: ลุ + หา = ลุหา > ลุห + อ = ลุห > โลห แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ผู้ตัดผละทิ้งไป” (คือตัดไม่ขาดจนต้องทิ้ง)
“โลห” (ปุงลิงค์) หมายถึง โลหะ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดง, ทองเหลืองหรือทองสัมฤทธิ์ (metal, esp. copper, brass or bronze)
บาลี “โลห” สันสกฤตก็เป็น “โลห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“โลห : (คำนาม) เหล็ก; ธาตุอย่างใดอย่างหนึ่ง; อาวุธ; โลหิต; แพะสี่แดง; iron; any metal; weapon; blood; a red-coloured goat.”
ขยายความ :
“โลห” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “โลห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “โลหะ” บอกไว้ดังนี้ –
“โลห-, โลหะ : (คำนาม) ธาตุที่ถลุงจากแร่แล้ว เช่น เหล็ก ทองแดง ทองคำ; (วิทยา) ธาตุซึ่งมีสมบัติสำคัญ คือ เป็นตัวนำไฟฟ้าและความร้อนที่ดี มีขีดหลอมเหลวสูง ขัดให้เป็นเงาได้ ตีแผ่เป็นแผ่นหรือดึงให้เป็นเส้นลวดได้ เมื่อนำมาเคาะมีเสียงดังกังวาน เมื่ออยู่ในสภาพไอออนจะเป็นไอออนบวก.”
พจนานุกรมฯ ยังเก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “โลห-” และ “โลหะ” ไว้อีกบางคำ ขอยกมาให้ดู ดังนี้ –
(1) โลหกุมภี : (คำนาม) ชื่อนรกขุมหนึ่ง มีกระทะทองแดงเป็นที่ทรมาน. (ป.).
(2) โลหะเจือ : (คำนาม) โลหะที่เกิดจากการผสมโลหะต่างชนิดกัน เช่น นาก ทองบรอนซ์, โลหะผสม ก็ว่า.
(3) โลหะผสม : (คำนาม) โลหะเจือ.
คำหนึ่งที่น่าจะเก็บ เพราะอายุของคำก็เท่า ๆ กับ “โลหกุมภี” คือคำว่า “โลหปราสาท” แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้
แถม :
“โลหปราสาท” เขียนแบบบาลีเป็น “โลหปาสาท” อ่านว่า โล-หะ-ปา-สา-ทะ แปลตามศัพท์ว่า “ปราสาทอันสำเร็จด้วยโลหะ” หรือ “ปราสาทอันมุงด้วยโลหะ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “โลหปาสาท” ไว้ว่า “copper terrace,” brazen palace, N. of a famous monastery at Anurādhapura in Ceylon (“โลหปราสาท”, ปราสาททองแดง, ชื่อของวัดที่มีชื่อเสียงในเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา)
ว่ากันว่า “โลหปราสาท” เท่าที่มีประวัติปรากฏอยู่ มีเพียง 3 แห่งในโลก คือ –
๑ โลหปราสาทหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้สร้าง เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ
๒ โลหปราสาทหลังที่ 2 สร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราช 382 พระเจ้าทุฏฐคามณีกษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกาเป็นผู้สร้าง เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง
๓ โลหปราสาทหลังที่ 3 อยู่ที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2394 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การไม่ใส่ใจ
: คือมหาภัยของภาษา
(และมหาภัยของทุกอย่าง)
#บาลีวันละคำ (4,484)
21-9-67
…………………………….
…………………………….