บาลีวันละคำ

วิหารคด (บาลีวันละคำ 4,357)

วิหารคด

ไม่ใช่ วิหารคด

“คด” ด เด็ก สะกดธรรมดา ๆ

อ่านว่า วิ-หาน-คด

ประกอบด้วยคำว่า วิหาร + คด

(๑) “วิหาร

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ + หรฺ = วิหรฺ + = วิหรณ > วิหร > วิหาร แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “วิหาร” ไว้ดังนี้ –

(1) spending one’s time [sojourning or walking about], staying in a place, living; place of living, stay, abode [in general] (ใช้เวลา [พักแรมหรือเดินไปหา], พักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง, ดำรงอยู่; วิหาร, ที่อยู่, ที่อาศัย [โดยทั่วๆ ไป]) 

(2) state of life, condition, mode of life (การดำรงชีวิต, สถานะ, วิถีชีวิต) 

(3) a habitation for a Buddhist mendicant, an abode in the forest, or a hut; a dwelling, habitation, lodging [for a bhikkhu], a single room (วิหาร, ที่พักอาศัยในป่า, หรือกระท่อม; ที่อยู่อาศัย, ที่พักพิง, กุฏิ [สำหรับภิกษุ], ห้องเดี่ยว) 

(4) place for convention of the bhikkhus, meeting place; place for rest & recreation [in garden or park] (สถานที่ประชุมของภิกษุ, ที่ประชุม; สถานที่พักผ่อนและหย่อนใจ [ในสวนหรืออุทยาน]) 

(5) a larger building for housing bhikkhus, an organized monastery, a Vihāra (ตึกใหญ่สำหรับภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัย, วัด, วิหาร) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิหาร, วิหาร– : (คำนาม) วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับ โบสถ์; การพักผ่อน เช่น ทิวาวิหาร ว่า การพักผ่อนในเวลากลางวัน. (ป., ส.).” 

ขยายความแทรก : 

วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่

ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์

ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” คืออาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม

ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร” ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร

(๒) “คด

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คด” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) คด ๑ : (คำนาม) วัตถุแข็งคล้ายหินที่มีในสัตว์หรือต้นไม้ นับถือกันว่าเป็นเครื่องราง.

(2) คด ๒ : (คำนาม) สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสัณฐานหักมุมเป็นข้อศอก เช่น วิหารคด. (คำวิเศษณ์) ลักษณะที่ไม่ตรงตลอด; ไม่ซื่อ.

(3) คด ๓ : (คำกริยา) ตักข้าวสุกออกจากหม้อ.

คด” ในที่นี้คือ คด

วิหาร + คด = วิหารคด เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง

ขยายความ :

คำว่า “วิหารคด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ –

วิหารคด : (คำนาม) วิหารที่มีลักษณะคดเป็นข้อศอกอยู่ตรงมุม อาจมีหลังเดียวก็ได้ โดยมากจะมี ๔ มุม และประดิษฐานพระพุทธรูป, สิ่งก่อสร้างที่คดเป็นข้อศอกอยู่ตรงมุม.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –

วิหารคด : (คำนาม) วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีลักษณะหักเป็นข้อศอก โดยมากตั้งอยู่ ๔ มุม ของเขตพุทธาวาส หรืออาจมีหลังเดียวก็ได้.”

คำว่า “วิหารคด” –คด คำไทย ด เด็ก สะกดธรรมดา ๆ 

หลายคนมักสะกดเป็น “วิหารคต” –คต ต เต่า ที่เป็นคำบาลี แปลว่า “ไปแล้ว” “ถึงแล้ว” เช่นเดียวกับ –คต ในคำว่า “ตถาคต” “พระสุคต” “อนาคต” 

โปรดทราบว่า “วิหารคด” –คด คำไทย ด เด็ก สะกดธรรมดา ๆ ไม่ใช่ –คต ต เต่า

แถม :

เพื่อให้เข้าใจคำว่า “วิหารคด” ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอนำคำอธิบายคำว่า “คดพระระเบียง” จากพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

…………..

คดพระระเบียง : ชื่อเรียกมุมระเบียงรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารตรงที่หักเลี้ยวเป็นมุมฉากกลับมาข้างใน โบราณเรียกคดพระระเบียงนี้ว่า “มุมพระระเบียง” มีตัวอย่าง เช่น ในจารึกเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตอนหนึ่งว่า “กระทำพระระเบียงล้อม (พระอุโบสถ) สองชั้น ผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุ ผนังหลังพระระเบียงเขียนเป็นลายแย่งมุมพระระเบียงนั้นเป็นจตุรมุขทุกชั้น” หรือเมื่อรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ มีจดหมายเหตุเรื่องการปฏิสังขรณ์กล่าวถึงพระระเบียงตรงมุมหักนี้ว่า “ทุกมุขมุมพระระเบียง ๔ ทิศ เขียนเรื่องนนทุกปกรณัม” และยังจะเห็นได้จากหมายรับสั่งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ เรียกมุมหักของพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามกำหนดตามทิศดังนี้ “ใช้เลกจำนวนยกสำรับ เกณฑ์เป็นสารวัตร พระระเบียงด้านตะวันออก แต่มุมเหนือถึงมุมใต้” และต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงเรียกพระระเบียงตรงที่หักมุมว่า “มุมพระระเบียง” อยู่ ซึ่งความสำคัญนี้ปรากฏในรายงานการสถาปนาพระปฐมเจดีย์ว่า “พระระเบียงตั้งแต่พิหารกลางไปทางใต้ถึงพระที่นั่งทรงโปรย ๑๒ ห้องนั้น หลังคาเฉลียงข้างตะวันตก จีนแสเอียถือปูนทำลูกฟูกแล้วอีก ๗ ห้อง เก่าใหม่ได้ ๑๒ ห้อง แต่ยังหาได้ทาดินแดงไม่ แต่พระระเบียงต่อพระที่นั่งทรงโปรยไปถึงพิหาร มุมพระระเบียงนั้นยังหาได้ถือปูนไม่”

คำว่า “คดพระระเบียง” หรือ “พระระเบียงคด” สันนิษฐานว่าคงจะมานิยมเรียกกันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ กล่าวคือ ได้พบหลักฐานคราวแรกในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวรารามดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปถึงพระยาราชสงคราม ตอนหนึ่งว่า “ทั้งพระวิหารและพระระเบียงคดในหมู่พระปรางค์นั้นชำรุดทรุดโทรมอย่างใดบ้าง ถ้าจะปฏิสังขรณ์จะสิ้นเงินสักเท่าใด” และในเวลาต่อมา ได้พบคำว่า “คด” ที่ใช้เรียกพระระเบียงตรงหักมุมนี้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ มีความตอนหนึ่งซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “พระระเบียงนั้นย่อมทำล้อมที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกใดนับถือสิ่งใดก็สิ่งนั้น เป็นที่พักสัปบุรุษซึ่งไปประชุมไหว้และทำบุญ อย่างเล็กก็เป็นคดอยู่ ๔ มุม ที่ขาดกลางเป็นช่องเข้า” อาศัยความที่เรียกพระระเบียงขนาดเล็ก ซึ่งมีลักษณะหักมุมคดไป อยู่ตรง ๔ มุมของเขตพุทธาวาสเช่นนี้ว่า “คด” จึงเป็นเหตุให้พวกช่างในเวลาต่อมาได้นำไปใช้เรียกพระระเบียงตรงมุมที่หักเลี้ยวไปอีกทางหนึ่งเป็นมุมฉากว่า “คดพระระเบียง” และภายหลังยังเรียกพระระเบียงที่ปลูกขึ้นล้อมปูชนียสถานอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ด้านว่า “พระระเบียงคด” อีกด้วย นับว่าเป็นการเรียกที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะคำว่า คด หรือ คดพระระเบียง นั้น หมายถึงเฉพาะตรง

มุมหักเลี้ยวอยู่ ๔ มุมเท่านั้น มิได้หมายถึงพระระเบียงที่แล่นตรงด้านใดด้านหนึ่งทั้ง ๔ ด้าน.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วิหารคด งาม

: คนคด ทราม

#บาลีวันละคำ (4,357)

17-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *