บาลีวันละคำ

อสีติมหาสาวก [2] (บาลีวันละคำ 4,362)

อสีติมหาสาวก [2]

Idol ที่รอให้หยิบยกขึ้นมาศึกษา

อ่านว่า อะ-สี-ติ-มะ-หา-สา-วก

ประกอบด้วยคำว่า อสีติ + มหาสาวก

(๑) “อสีติ” 

อ่านว่า อะ-สี-ติ แปลว่า แปดสิบ (จำนวน 80) ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ปกติสังขยา” คือคำบอกจำนวนของสิ่งที่นับ คู่กับ “ปูรณสังขยา” คือคำบอกเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ

แวะหาความรู้ :

“ปกติสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติ  มหาสาวกา” = พระมหาสาวก 80 องค์ (รวมหมดทั้ง 80 องค์)

“ปูรณสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติโม  มหาสาวโก” = พระมหาสาวกองค์ที่ 80 (เฉพาะองค์ที่ 80 องค์เดียว)

(๒) “มหาสาวก” 

อ่านว่า มะ-หา-สา-วก ประกอบด้วย มหา + สาวก

(ก) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable) 

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).” 

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –สาวก เปลี่ยนรูปเป็น “มหา-” 

(ข) “สาวก” บาลีอ่านว่า สา-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ทีฆะ อะ ที่ -(ว) เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย (สว > สาว), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: สุ > โส > สว + ณฺวุ > อก : สว + อก = สวก > สาวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟังคำของครู” หมายถึง ผู้ฟัง, สาวก (a hearer, disciple)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาวก : (คำนาม) ศิษย์ของศาสดา. (ป.; ส. ศฺราวก).”

มหนฺต + สาวก = มหนฺตสาวก > มหาสาวก แปลว่า “สาวกผู้ใหญ่” หมายถึง พระอรหันตสาวกผู้อยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหาสาวก : (คำนาม) พระสาวกชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธเจ้า ๘๐ องค์ ซึ่งรวมพระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์เข้าไว้ในจำนวนนั้นด้วย. (ป.; ส. มหาศฺราวก).”

อสีติ + มหาสาวก = อสีติมหาสาวก แปลว่า แปลว่า “ พระสาวกชั้นผู้ใหญ่แปดสิบองค์

ขยายความ :

คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาเถรคาถา ภาค 2 หน้า 871 (วังคีสเถรคาถา) แสดงรายนาม “อสีติมหาสาวก” ไว้ดังนี้ –

(สะกดนามเป็นคำบาลีตามต้นฉบับ ในที่นี้ลงหมายเลขไว้เพื่อให้เห็นลำดับตามที่ท่านเรียงไว้ในคัมภีร์ องค์ที่เป็นเอตทัคคะลงเอตทัคคะกำกับไว้ในวงเล็บด้วย)

…………..

(1) อญฺญาสิโกณฺฑญฺโญ (รัตตัญญู = รู้ราตรีนาน คือ บวชนาน รู้เห็นเหตุการณ์มากมาแต่ต้น) 

(2) วปฺโป 

(3) ภทฺทิโย 

(4) มหานาโม 

(5) อสฺสชิ 

(6) นาลโก 

(7) ยโส 

(8 ) วิมโล 

(9) สุพาหุ 

(10) ปุณฺณชิ 

(11) ควมฺปติ 

(12) อุรุเวลกสฺสโป (มีบริวารมาก) 

(13) นทีกสฺสโป 

(14) คยากสฺสโป 

(15) สาริปุตฺโต (อัครสาวกที่หนึ่ง มีปัญญามาก) 

(16) มหาโมคฺคลฺลาโน (อัครสาวกที่สอง มีฤทธิ์มาก) 

(17) มหากสฺสโป (ถือธุดงค์) 

(18) มหากจฺจายโน (ขยายความย่อให้พิสดาร) 

(19) มหาโกฏฺฐิโต (ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔) 

(20) มหากปฺปิโน (ผู้ให้โอวาทภิกษุ) 

(21) มหาจุนฺโท 

(22) อนุรุทฺโธ (มีทิพยจักษุ) 

(23) กงฺขาเรวโต (ผู้ยินดีในฌานสมาบัติ) 

(24) อานนฺโท (เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐากที่ยอดเยี่ยม) 

(25) นนฺทโก (ให้โอวาทนางภิกษุณี) 

(26) ภคุ 

(27) นนฺโท (ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย) 

(28) กิมฺพิโล 

(29) ภทฺทิโย (ผู้มาจากตระกูลสูง) 

(30) ราหุโล (ใคร่ต่อการศึกษา) 

(31) สีวลิ (มีลาภมาก) 

(32) อุปาลิ (ทรงพระวินัย = วินัยธร) 

(33) ทพฺโพ (เสนาสนปัญญาปกะ = จัดที่พักให้อาคันตุกะ) 

(34) อุปเสโน (ทำให้เกิดความเลื่อมใสรอบด้าน = ไม่เฉพาะตนเองน่าเลื่อมใส แม้คณะศิษย์ก็น่าเลื่อมใสไปหมด) 

(35) ขทิรวนิยเรวโต (อยู่ป่า) 

(36) ปุณฺโณ  มนฺตาณิปุตฺโต (พระธรรมกถึกเอก) 

(37) ปุณฺโณ  สุนาปรนฺโต 

(38) โสโณ  กุฏิกณฺโณ (กล่าวกัลยาณพจน์) 

(39) โสโณ  โกฬิวิโส (ปรารภความเพียร) 

(40) ราโธ (ผู้ก่อให้เกิดปฏิภาณ = เข้าใจธรรมะได้เร็ว) 

(41) สุภูติ (อยู่ด้วยอรณวิหาร = เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา และเป็นทักขิไณยบุคคล) 

(42) องฺคุลิมาโล 

(43) วกฺกลิ (ศรัทธาธิมุต = ผู้มีศรัทธาสนิทแน่ว) 

(44) กาฬุทายี (ผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส) 

(45) มหาอุทายี (เอตทัคคะ?) 

(46) ปิลินฺทวจฺโฉ (เป็นที่รักของเหล่าเทวดา)

(47) โสภิโต 

(48) กุมารกสฺสโป (แสดงธรรมวิจิตร) 

(49) รฏฺฐปาโล (บวชด้วยศรัทธา) 

(50) วงฺคีโส (มีปฏิภาณ = กล่าวคำประพันธ์ได้แคล่วคล่องว่องไว) 

(51) สภิโย 

(52) เสโล 

(53) อุปวาโน 

(54) เมฆิโย 

(55) สาคโต (ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ) 

(56) นาคิโต 

(57) ลกุณฺฑกภทฺทิโย (มีเสียงไพเราะ) 

(58) ปิณฺโฑลภารทฺวาโช (บันลือสีหนาท) 

(59) มหาปนฺถโก (ผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏ)  

(60) จูฬปนฺถโก (ผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏ) 

(61) พากุโล (ผู้มีอาพาธน้อย = สุขภาพดี) 

(62) กุณฺฑธาโน (ถือเอาสลากเป็นปฐม) 

(63) ทารุจีริโย (ตรัสรู้ฉับพลัน) 

(64) ยโสโช 

(65) อชิโต 

(66) ติสฺสเมตฺเตยฺโย 

(67) ปุณฺณโก 

(68) เมตฺตคู 

(69) โธตโก 

(70) อุปสิโว 

(71) นนฺโท 

(72) เหมโก 

(73) โตเทยฺโย 

(74) กปฺโป 

(75) ชตุกณฺณิ 

(76) ภทฺราวุโธ 

(77) อุทโย 

(78) โปสาโล 

(79) โมฆราชา (ทรงจีวรเศร้าหมอง = ครองจีวรปอน) 

(80) ปิงฺคิโย 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อสีติมหาสาวก” แสดงรายนามตามลำดับอักษร ขอนำมาเสนอไว้เทียบกันเพื่อความสะดวกในการค้นนามตามลำดับอักษร (เลขในวงเล็บหลังนามคือลำดับตามที่ปรากฏในอรรถกถา)

…………..

กังขาเรวตะ (23)

กัปปะ, (74)

กาฬุทายี (44)

กิมพิละ (28)

กุมารกัสสปะ (48)

กุณฑธาน (62)

คยากัสสปะ (14)

ควัมปติ (11)

จุนทะ, (มหาจุนฺโท) (21) 

จูฬปันถก (60)

ชตุกัณณิ (75)

ติสสเมตเตยยะ (66) 

โตเทยยะ (73) 

ทัพพมัลลบุตร (33)

โธตกะ (69)

นทีกัสสปะ (13) 

นันทะ (27)

นันทกะ (25)

นันทกะ (71)

นาคิตะ (56)

นาลกะ (6) 

ปิงคิยะ (80) 

ปิณโฑลภารทวาช (58)

ปิลินทวัจฉะ (46)

ปุณณกะ (67) 

ปุณณชิ (10) 

ปุณณมันตานีบุตร (36) 

ปุณณสุนาปรันตะ (37) 

โปสาละ (78)

พากุละ (พักกุละ ก็เรียก) (61)

พาหิยทารุจีริยะ (63)

ภคุ (26)

ภัททิยะ (ศากยะ) (29)

ภัททิยะ (3)

ภัทราวุธ (76)

มหากัจจายนะ (18)

มหากัปปินะ (20)

มหากัสสปะ (17)

มหาโกฏฐิตะ (19)

มหานามะ (4)

มหาปันถก (59)

มหาโมคคัลลานะ (16)

เมฆิยะ (54)

เมตตคู (68)

โมฆราช (79)

ยสะ (7)

ยโสชะ (64)

รัฏฐปาละ (49)

ราธะ (40)

ราหุล (30)

เรวตะ ขทิรวนิยะ (35)

ลกุณฏกภัททิยะ (57)

วักกลิ (43)

วังคีสะ (50)

วัปปะ (2)

วิมละ (8 )

สภิยะ (51)

สาคตะ (55)

สารีบุตร (15)

สีวลี (31)

สุพาหุ (9)

สุภูติ (41)

เสละ (52)

โสณกุฏิกัณณะ (38)

โสณโกฬิวิสะ (39)

โสภิตะ (47)

เหมกะ (72)

องคุลิมาล (42)

อชิตะ (65)

อนุรุทธะ (22)

อัญญาโกณฑัญญะ (1)

อัสสชิ (5)

อานนท์ (24)

อุทยะ (77)

อุทายี (45)

อุบาลี (32)

อุปวาณะ (53)

อุปสีวะ (70)

อุปเสนวังคันตบุตร (34)

อุรุเวลกัสสปะ (12) 

…………..

ขอเสนองานของนักเรียนบาลี :

รายนาม “อสีติมหาสาวก” คงมีผู้รวบรวมกันไว้บ้าง เท่าที่ทราบแห่งหนึ่งก็คือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต นอกเหนือจากนี้ไม่ทราบว่ามีใครทำไว้ที่ไหนอีกบ้าง 

บาลีวันละคำขอเป็นแหล่งข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง ขอให้เป็นที่ทราบทั่วกันว่า ต้องการรู้รายนาม “อสีติมหาสาวก” ครบถ้วนทั้ง 80 องค์ เข้ามาดูที่บาลีวันละคำได้อีกแห่งหนึ่ง

ที่ทำเพิ่มขึ้นจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ก็คือ องค์ที่เป็นเอตทัคคะลงเอตทัคคะกำกับไว้ท้ายนามด้วย แต่ข้อมูลที่ทำไว้นี้ยังขาดความสมบูรณ์อีกมาก จึงใคร่ขอแรงนักเรียนบาลีให้ช่วยกันทำเพิ่มเติม เช่น –

1 ตรวจสอบรายนามให้ถูกต้องตรงตามที่ปรากฏในคัมภีร์ต้นฉบับ

2 เรียบเรียงประวัติของแต่ละองค์เท่าที่มีปรากฏในคัมภีร์และเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งจะกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ว่าด้วย “อสีติมหาสาวก” ฝากไว้เป็นสมบัติในวงการบาลี

3 ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความคิดจะนำแต่ละนามมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ แต่ขัดข้องด้วยความรู้ยังไม่พอและอุปกรณ์ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะการแยกแยะรากศัพท์นามแต่ละคำซึ่งเป็น “อสาธารณนาม” ยังขาดตำราอยู่มาก เรื่องนี้ถ้านักเรียนบาลีที่ได้เรียน “บาลีใหญ่” ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางและลึกซึ้งเข้ามาช่วยกันทำ ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

งานบาลีที่รอคนทำยังมีอยู่เป็นอเนกอนันต์

ถ้านักเรียนบาลีไม่ช่วยกัน แล้วใครจะทำ?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนบาลีไม่ใช่จบแค่สอบได้

: แต่ต้องก้าวต่อไปให้ถึงการทำงานบาลี

#บาลีวันละคำ (4,362)

22-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *