บาลีวันละคำ

โชติ  โชติปรายโน (บาลีวันละคำ 4,363)

โชติ  โชติปรายโน

ไม่ใช่ โชติ  โชติ  ปรายโน

ภาพประกอบเป็นซุ้มประตูวัดแห่งหนึ่ง มีข้อความภาษาบาลีว่า –

…………..

โชติ  โชติ  ปรายโน

…………..

โปรดทราบว่า ข้อความนี้เว้นวรรคผิดพลาด

โชติ” คำแรกถูกต้องแล้ว

โชติ” คำที่สองต้องติดกับ “ปรายโน” เป็น “โชติปรายโน

ข้อความที่ถูกต้องต้องเป็น “โชติ  โชติปรายโน” 

ไม่ใช่ “โชติ  โชติ  ปรายโน” ดังที่ปรากฏ

โชติ  โชติปรายโน” 

อ่านว่า โช-ติ โช-ติ-ปะ-รา-ยะ-โน

(๑) “โชติ” 

บาลีอ่านว่า โช-ติ รากศัพท์มาจาก ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต

: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง

โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance) 

(2) ดาว (a star) 

(3) ไฟ (fire) 

ในที่นี้ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีแสงสว่างหรือมีความสดใส, มีความเจิดจ้า (luminous, endowed with light or splendour, bright)

(๒) “ปรายโน” 

อ่านว่า ปะ-รา-ยะ-โน รูปคำเดิมเป็น “ปรายน” อ่านว่า ปะ-รา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก ปร (ข้างหน้า) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ) (อิ > เอ > อาย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ปร + อิ = ปริ > ปเร > ปราย + ยุ > อน = ปรายน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ไปดำรงอยู่ข้างหน้า” 

ปรายน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ใช้เป็นคำนาม หมายถึง ผลประโยชน์ในที่สุด, กล่าวคือ การพึ่งพา, การพักผ่อน, การคลายกังวล (final end, i. e. support, rest, relief) 

(2) ใช้เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง –

(ก) ตรงไป, สิ้นสุด, มุ่งหวัง, เคยตัว, ชอบหรือรัก, มีจุดประสงค์หรือจุดหมายปลายทาง; พบที่พึ่งพิง (going through to, ending in, aiming at, given to, attached to, having one’s end or goal in; finding one’s support in) 

(ข) อันฟ้าดินกำหนดให้, มีกำเนิดในภพหน้า (destined to, having one’s next birth in) 

คำว่า “-ปรายน” มีคำแปลที่ควรสังเกต คือ แปลว่า “มี – เป็นที่ไปในเบื้องหน้า” หมายความว่า เมื่อเป็นส่วนท้ายของคำใด ก็แปลว่า “มี (คำแปลของคำนั้น) เป็นที่ไปในเบื้องหน้า” เช่น –

ทณฺฑปรายน” (ทัน-ดะ-ปะ-รา-ยะ-นะ) แปลว่า “มีไม้เท้าเป็นที่ไปในเบื้องหน้า” = ถือไม้เท้ากรานไปข้างหน้า (ทณฺฑ = ไม้เท้า

สคฺคปรายน” (สัก-คะ-ปะ-รา-ยะ-นะ) แปลว่า “มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า” = ไปเกิดในสวรรค์ (สคฺค = สวรรค์)

โชติ + ปรายน = โชติปรายน แปลว่า “มีความสว่างเป็นที่ไปในเบื้องหน้า” = ไปเกิดในภพภูมิที่มีแต่ความสดใส (โชติ = ความสว่าง)

ขยายความ :

โชติ  โชติปรายโน” เป็น 1 ในบุคคล 4 จำพวกที่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก คือ –

…………..

(1) ตโม  ตมปรายโน = ผู้มืดมา มืดไป (ทำชั่วมาเกิด เกิดมาแล้วทำชั่ว ไปเกิดชั่วอีก)

(2) ตโม  โชติปรายโน = ผู้มืดมา สว่างไป (ทำชั่วมาเกิด เกิดมาแล้วทำดี ไปเกิดดี)

(3) โชติ ตมปรายโน = ผู้สว่างมา มืดไป (ทำดีมาเกิด เกิดมาแล้วทำชั่ว ไปเกิดชั่ว)

(4) โชติ โชติปรายโน = ผู้สว่างมา สว่างไป (ทำดีมาเกิด เกิดมาแล้วทำดี ไปเกิดดีอีก)

ที่มา: 

สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกฺวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 276 

ปุคฺคลสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 393-398 

…………..

มีคำที่ควรรู้อยู่ในบุคคล 4 จำพวกอีกคำหนึ่ง คือ “ตโม” 

ตโม” อ่านว่า ตะ-โม รูปคำเดิมเป็น “ตม” อ่านว่า ตะ-มะ รากศัพท์มาจาก ตมฺ (ธาตุ = มืด; หวัง, ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย 

: ตมฺ + = ตม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เวลาเป็นเหตุมืดมิดแห่งเหล่าสัตว์” (2) “เวลาเป็นที่ปรารถนาเสพสังวาสแห่งเหล่าสัตว์” หมายถึง ความมืด (darkness)

ตม” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง อยู่ในตอนหนึ่งของชีวิตมืดมนอนธการ หรือในภาวะแห่งความเป็นทุกข์ (living in one of the dark spheres of life or in a state of suffering) 

ตม” ขยายคำนามที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตโม

คำที่เป็นคู่กันในที่นี้ คือ “โชติปรายโน” และ “ตมปรายโน” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำคู่นี้ไว้ดังนี้ –

โชติปรายน : attaining to light or glory (ถึงซึ่งความสว่างหรือความรุ่งเรือง)

ตมปรายน : having a state of darkness or “duggati” for his end or destiny (มีความมืดหรือทุคติเป็นชะตากรรมในที่สุด) 

โชติปรายน” และ “ตมปรายน” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โชติปรายโน” และ “ตมปรายโน

อย่าเขียนผิด :

บาลีเขียนแยกเป็นคำ ๆ เหมือนภาษาอังกฤษ แต่ต้องแยกให้ถูก มิฉะนั้นจะสับสน ทำให้ความหมายผิดไปด้วย 

ยิ่งคำที่เป็นเป็นพระพุทธพจน์ยิ่งต้องระวังให้จงหนัก เพราะจะกลายเป็นทำให้พระพุทธพจน์ผิดเพี้ยนไปจากที่ตรัสไว้ เข้าข่ายที่ท่านเรียกว่า “ตู่พระพุทธพจน์” แม้จะไม่มีเจตนา หรือเพราะไม่รู้ ก็มีโทษมาก 

ซุ้มประตูวัดไม่ควรมีคำบาลีผิดพลาด :

การสร้างซุ้มประตูวัดและความคิดที่ให้มีคำบาลีอันเป็นคติติดไว้ที่ซุ้มประตู เป็นบุญกรรมที่ควรแก่การอนุโมทนา แต่ก็ควรแก่การสงสัยด้วยว่า เมื่ออัญเชิญคำบาลีอันเป็นพระพุทธพจน์ขึ้นประดิษฐาน ช่างที่ประดิษฐ์ตัวอักษรคงทำไปตามต้นแบบที่มีผู้กำหนดให้ ผู้กำหนดต้นแบบไฉนจึงไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่า “โชติ  ปรายโน” (เว้นวรรคห่างกันเป็นคนละคำ) จะต้องเป็น “โชติปรายโน” (ติดกันเป็นคำเดียวกัน) จึงจะถูกต้อง

ซุ้มประตูนี้คงสร้างมานานแล้ว ในระหว่างเวลายาวนานที่ผ่านมา คนที่ได้เห็นได้อ่านไม่มีใครรู้ว่าคำบาลีผิดพลาดบ้างเลยหรือ ถ้ารู้ ไม่เคยมีใครทักท้วงบ้างเลยหรือ

จะปล่อยให้คำบาลีผิดพลาด ประกาศความไม่รอบคอบ ประกอบอยู่กับซุ้มประตูเช่นนี้ตลอดไปหรือไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตทำสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ แต่แน่ใจว่าเป็นความถูกต้อง และกราบขออภัยมา ณ ที่นี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ค่านิยมที่วิปริต

: คือ-รู้ว่าผิดแต่ไม่คิดจะทักท้วง

#บาลีวันละคำ (4,363)

23-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *