บาลีวันละคำ

ปุริส คือ man (บาลีวันละคำ 4,364)

ปุริส คือ man

บางบริบทหมายถึง “ผู้ชาย”

แต่หลาย ๆ บริบทหมายถึง “คน”

ปุริส” บาลีอ่านว่า ปุ-ริ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย 

: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด

: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ

(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่

: ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า

(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป

: ปุร + อิ = ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า

(5) ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน

: + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ

บาลี “ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุรุษ, บุรุษ– : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”

ขยายความ :

พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้

ขอยกตัวอย่างคำว่า “ปุริส” ที่หมายถึงมนุษย์ทั่วไป มาเสนอไว้ในที่บางคำ ดังนี้ –

…………..

๑ “ปุริสยุคานิ” (ปุ-ริ-สะ-ยุ-คา-นิ) และ “ปุริสปุคฺคลา” (ปุ-ริ-สะ-ปุก-คะ-ลา) ในบทสังฆคุณ 

คำแปลทั่วไปจะแปล “ปุริสยุคานิ” ว่า “คู่แห่งบุรุษ” และแปล “ปุริสปุคฺคลา” ว่า “บุรุษบุคคล

พึงทราบว่า คำว่า “ปุริส” ในคำคู่นี้ ไม่ได้หมายถึง “ผู้ชาย” ที่เป็นเพศตรงกันข้ามกับ “ผู้หญิง” เท่านั้น หากแต่หมายถึง “คน” หรือ “มนุษย์” โดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศไหน

ขอให้ดูคำอธิบายขยายความดังนี้ จะยิ่งเห็นได้ชัด –

(๑) “จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ” 4 คู่ จำแนกเป็นดังนี้ –

คู่ที่ 1 ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค คู่กับผู้บรรลุโสดาปัตติผล

คู่ที่ 2 บรรลุสกทาคามิมรรค คู่กับผู้บรรลุสกทาคามิผล

คู่ที่ 3 บรรลุอนาคามิมรรค คู่กับผู้บรรลุอนาคามิผล

คู่ที่ 4 บรรลุอรหัตมรรค คู่กับผู้บรรลุอรหัตผล

(๒) “อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา” บุคคล 8 จำแนกเป็นดังนี้ –

1 บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค 

2 บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผล

3 บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิมรรค 

4 บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผล 

5 บุคคลผู้บรรลุอนาคามิมรรค 

6 บุคคลผู้บรรลุอนาคามิผล 

7 บุคคลผู้บรรลุอรหัตมรรค 

8 บุคคลผู้บรรลุอรหัตผล 

จะเห็นได้ชัดว่า ผู้บรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนามีได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง คำว่า “ปุริส” ในบทสังฆคุณจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะ “บุรุษ” หรือ “ผู้ชาย” ดังคำที่แปลกัน

…………..

๒ “ปุริส” ในคาถานี้ –

อนโณ ญาตีนํ โหติ 

เทวานํ ปิตุนญฺจ โส 

กรํ ปุริสกิจฺจานิ 

น จ ปจฺฉานุตปฺปติ.

เมื่อได้ลงมือพยายามเต็มที่แล้ว แม้จะตาย

ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้เทวดาก็ตำหนิไม่ได้ 

เมื่อทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์จะพึงทำแล้ว 

ย่อมไม่เสียใจในภายหลัง (ว่าเราไม่น่างอมืองอเท้าเลย!) 

โส อหํ วายมิสฺสามิ 

ยถาสตฺติ ยถาพลํ 

คจฺฉํ ปารํ สมุทฺทสฺส 

กสฺสํ ปุริสการิยํ. 

เราจักพยายามให้สุดกำลัง 

จักทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์ควรทำ 

ไปให้ถึงฝั่งมหาสมุทรให้จงได้

ที่มา: มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 445,447

“ปุริสกิจฺจานิ” หมายถึง “หน้าที่ของมนุษย์” “ปุริสการิยํ” หมายถึง “หน้าที่ที่มนุษย์ควรทำ” ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชาย

…………..

๓ “วายเมเถว  ปุริโส” มักแปลกันว่า “เป็นชายพึงพยายามเรื่อยไป” หรือ “ลูกผู้ชายพึงพยายามเรื่อยไป” กลายเป็นการจำกัดเพศ คำสอนเช่นนี้เป็นการสอนคนทั่วไป ไม่ใช่สอนเฉพาะผู้ชาย “ปุริโส” ในที่นี้ต้องแปลว่า คนหรือมนุษย์ทั่วไป 

วายเมเถว  ปุริโส

ยาว  อตฺถสฺส  นิปฺปทา.

เป็นคนควรพยายามเรื่อยไป

จนกว่าจะบรรลุสิ่งที่ต้องการ

ที่มา: วิโรจนอสุรินทสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 891

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนคำให้เข้าถึงคำ ไม่ยาก

: เรียนคนให้เข้าถึงคน ไม่ง่าย

#บาลีวันละคำ (4,364)

24-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *