บาลีวันละคำ

สาธารณูปการ (บาลีวันละคำ 2,319)

สาธารณูปการ

อ่านว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กาน

ประกอบด้วยคำว่า สาธารณ + อุปการ

(๑) “สาธารณ

บาลีอ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป

(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน

สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”

(๒) “อุปการ

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + การ

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out)

(3) สุดแต่ (up to)

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(ข) “การ

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ

การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

อุป + การ = อุปการ (อุ-ปะ-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” หมายถึง ความอุปการะ, การช่วยเหลือ, การอนุเคราะห์, การทำบุญคุณ, การสงเคราะห์ (service, help, benefit, obligation, favour)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปการ– ๑, อุปการะ : (คำนาม) ความช่วยเหลือเกื้อกูล, ความอุดหนุน, คู่กับ ปฏิการะ = การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ. (คำกริยา) ช่วยเหลือเกื้อกูล, อุดหนุน. (ป., ส.).”

สาธารณ + อุปการ = สาธารณูปการ อ่านแบบบาลีว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กา-ระ อ่านแบบไทยว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำสิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป” หรือ “การเข้าไปทำสิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน” แปลเอาความว่า การทำกิจเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาธารณูปการ : (คำนาม) กิจการเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เช่น คนชรา คนพิการ เด็กกําพร้า. (อ. public assistance); การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทางศาสนา เช่น งานด้านสาธารณูปการ.”

อภิปราย :

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ แบ่งความหมายของเป็น 2 ส่วน คือความหมายที่ว่า “กิจการเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้” บัญญัติมาจากคำอังกฤษว่า public assistance ส่วนความหมายที่ว่า “การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทางศาสนา” ไม่ได้บัญญัติมาจากคำอังกฤษคำนั้น และน่าจะไม่ได้บัญญัติจากคำอังกฤษคำไหนๆ หากแต่เป็นความหมายตามเจตนาของคณะสงฆ์ไทย

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 คณะสงฆ์ไทยแบ่งงานออกเป็น 4 สาย เรียกว่า “องค์การ” คือ

องค์การปกครอง

องค์การศึกษา

องค์การเผยแผ่

องค์การสาธารณูปการ

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแม้จะไม่มีองค์การเหล่านี้แล้ว แต่คณะสงฆ์ก็ยังทำงานตามแนวของ “องค์การ” ที่เคยมีมา ทั้งยังได้เพิ่มงานขึ้นอีกรวมเป็น 6 ด้าน คือ

การปกครอง

การศาสนศึกษา

การศึกษาสงเคราะห์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

การสาธารณูปการ

การสาธารณสงเคราะห์

สรุปว่า “สาธารณูปการ” ของคณะสงฆ์ไทยก็คือ การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม งานด้านนี้เคยมีความสำคัญมากถึงกับใช้เป็นตัวชี้วัดว่าพระสังฆาธิการรูปไหนควรจะได้รับสมณศักดิ์หรือตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ให้ดูที่-ได้สร้างโบสถ์ สร้างศาลามาแล้วกี่หลัง

แม้เวลานี้ ทั้งๆ ที่จำนวนพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ลดลงไปทุกทีอย่างน่าวิตก แต่ค่านิยม “สร้างวัด” ก็ยังไม่ได้หมดไปจากสังคมไทย

พระสังฆาธิการระดับจังหวัดรูปหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า สร้างวัดไม่กี่ปีก็เสร็จ แต่การดูแลรักษาวัดต้องทำไม่มีวันเสร็จ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รีบหาวิธีสร้างพระสงฆ์ไว้สืบพระศาสนา

: อีกไม่นานจะเหลือแต่แมวกับหมาที่เฝ้าวัด

#บาลีวันละคำ (2,319)

18-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย