บาลีวันละคำ

โลกาภิวัตน์-อีกที (บาลีวันละคำ 4,365)

โลกาภิวัตน์-อีกที

-วัตน์ ต เต่า

ไม่ใช่ วัฒน์ ฒ ผู้เฒ่า

โลกาภิวัตน์” อ่านว่า โล-กา-พิ-วัด แยกศัพท์เป็น โลก + อภิวัตน์ (-วัตน์ ต เต่า)

(๑) “โลก” 

(ก) ในแง่ภาษา

(1) “โลก” บาลีอ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุชฺ > ลุก > โลก + = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) “โลก” รากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + (อะ) ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป” 

(3) “โลก” รากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + (อะ) ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่

(4) “โลก” รากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

(ข) ในแง่ความหมาย

(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม 

(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โลก, โลก– : (คำนาม) แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).”

(๒) “อภิวัตน์” 

อ่านว่า อะ-พิ-วัด แยกศัพท์เป็น อภิ + วัตน์

(ก) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(ข) “วัตน์” บาลีเป็น “วตฺตน” อ่านว่า วัด-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป; หมุนไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วตฺตฺ + ยุ > อน = วตฺตน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความเป็นไป” (2) “การหมุนไป” หมายถึง การเคลื่อนไป, การบำรุงรักษาไว้, ความเป็นอยู่, การดำเนินต่อไป (moving on, upkeep, existence, continuance)

อภิ + วตฺตน = อภิวตฺตน (อะ-พิ-วัด-ตะ-นะ) แปลว่า “ความเป็นไปอย่างยิ่ง” “การหมุนไปอย่างกว้างขวาง” 

อภิวตฺตน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภิวัตน์

โลก + อภิวัตน์ = โลกาภิวัตน์ อ่านว่า โล-กา-พิ-วัด แปลตามศัพท์ว่า “การที่สิ่งซึ่งจะต้องย่อยยับไปหมุนไปอย่างยิ่ง” = การที่โลกหมุนไปอย่างเร็ว = การแพร่กระจายไปทั่วโลก หรือที่นิยมพูดว่า “โลกไร้พรมแดน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โลกาภิวัตน์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ – 

โลกาภิวัตน์ : (คำนาม) การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น. (ป. โลก + อภิวตฺตน; อ. globalization).”

อภิปรายขยายความ :

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “โลกาภิวัตน์” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า globalization

คำว่า “โลกาภิวัตน์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ดูตามอายุพจนานุกรมฯ คำว่า “โลกาภิวัตน์” น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนสะกดคำนี้เป็น “โลกาภิวัฒน์” -วัฒน์ ผู้เฒ่า โดยอ้างว่า สะกดตามความเคยชิน หมายความว่า คนส่วนมากเคยชินกับ -วัฒน์ ผู้เฒ่า พอได้ยินเสียง โล-กา-พิ-วัด ใจก็คิดไปถึง -วัฒน์ ผู้เฒ่า ทันที แล้วมือก็สะกดตามใจไป

วิธีแก้คือ ตั้งหลักที่หลักภาษา

-วัฒน์ ผู้เฒ่า แปลว่า เจริญ

วัตน์ เต่า แปลว่า เป็นไป

โลกาภิวัตน์” ไม่ได้เกี่ยวกับความเจริญ เพราะฉะนั้น คำนี้จึงไม่ใช่ -วัฒน์ ผู้เฒ่า

เมื่อมีความรู้หลักภาษาเช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่เขียนคำนี้ก็ใช้ความรู้เป็นหลัก ตั้งสติเตือนตัวเองว่า —

คนที่เขียน -วัฒน์ ผู้เฒ่า ก็เพราะเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึงความเจริญ ก็ในเมื่อเราไม่ได้เข้าใจผิด แต่เราเข้าใจถูกว่าคำนี้ไม่ได้หมายถึงความเจริญ แล้วทำไมจึงจะเขียนเป็น -วัฒน์ ผู้เฒ่า อยู่อีกเล่า ความรู้ที่ได้มา ความรู้ที่มีอยู่ เอาไปไว้ที่ไหนหมด ทำไมไม่เอามาใช้ ทำไมจึงยกเอาความเคยมือมาอ้าง ทำไมจึงยอมสยบให้กับความเคยมือ ชาตินี้ทั้งชาติไม่คิดจะแก้ไขความเคยมือบ้างหรือ …

เตือนตัวเองทำนองนี้ อาจเป็นอุบายวิธีแก้นิสัยเขียนผิดเพราะความเคยมือให้หายไปได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเขียนผิดจนเคยมือได้

: ก็ต้องเขียนถูกจนเคยมือได้

#บาลีวันละคำ (4,365)

25-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *