นานานิกาย (บาลีวันละคำ 4,366)
นานานิกาย
ในเมืองไทย บางทีก็เป็น “คนละพวกเดียวกัน”
อ่านตรงตัวว่า นา-นา-นิ-กาย
ประกอบด้วยคำว่า นานา + นิกาย
(๑) “นานา”
อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย
“นานา” แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่างๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)
คำไข :
“นานา” มีความหมายว่าอย่างไร คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ
(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed)
(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally)
(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่างๆ (numerous, various, several, more, many, most)
(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่างๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”
โปรดระวัง : “นานา” เป็นคำบาลี นา + นา ใช้ “นา” คำเต็มทั้ง 2 คำ ไม่ใช่ นา + ๆ เหมือน ต่าง ๆ อย่าเขียนผิดเป็น ต่าง ๆ นา ๆ
(๒) “นิกาย”
บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ แสดงรากศัพท์ตามนัยแห่งหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ดังนี้ –
(๑) นิกาย ๑ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = เข้า, ลง) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ย ปัจจัย, แปลง จิ เป็น กา
: นิ + จิ = นิจิ + ย = นิจิย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขามุงบัง” หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่
(๒) นิกาย ๒ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (จิ > เจ > จาย), แปลง จ เป็น ก
: นิ + จิ + ณ = นิจิณ > นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง นิกาย, ฝูง, กลุ่ม, หมู่, คณะ, กอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิกาย” ว่า collection, assemblage, class, group (การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่) ไม่มีคำแปลที่หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่ ดังที่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แสดงความหมายของ นิกาย ๑
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิกาย : (คำนาม) น. หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์; เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย. (ป., ส.).”
นานา + นิกาย = นานานิกาย หมายถึง เป็นคนละพวกกัน
ขยายความ :
คำว่า “นานานิกาย” ยังไม่พบในคัมภีร์ เป็นคำที่คิดขึ้นมาเทียบกับคำว่า “นานาสํวาส” (ภาษาไทยเขียนเป็น “นานาสังวาส”) และ “นานาวาท” ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์
“นานาสังวาส” หมายถึง ความประพฤติไม่ตรงกัน คือการที่พระสงฆ์มีศีลไม่เสมอกัน ทำอุโบสถหรือสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้
“นานาวาท” หมายถึง ยังทำกิจกรรมร่วมกันได้ เพียงแต่มีความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง เช่น (1) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือธรรม อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรม (2) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือวินัย อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่วินัย (3) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส
ส่วน “นานานิกาย” หมายถึง ความประพฤติก็ไม่ตรงกัน ความเห็นก็ไม่ตรงกัน ต้องแยกกันเป็นคนละพวก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิกาย” ไว้ดังนี้ –
…………..
นิกาย : พวก, หมวด, หมู่, ชุมนุม, กอง;
1. หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งแยกเป็น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย;
2. คณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ; ในพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นนิกายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ๒ นิกาย คือ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) พวกหนึ่ง และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ที่บางทีเรียก หีนยาน พวกหนึ่ง;
ในประเทศไทยปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกัน แยกออกเป็น ๒ นิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในหมู่นักบวช) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต
…………..
หลักการเพื่อมิให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาคือ
(1) สีลสามัญตา (สี-ละ-สา-มัน-ยะ-ตา) ความประพฤติเสมอกัน คือประพฤติตรงกัน
(2) ทิฏฐิสามัญตา (ทิด-ถิ-สา-มัน-ยะ-ตา) ความเห็นเสมอกัน คือเห็นตรงกัน
หลักทั้งสองประการนี้เป็นที่รู้เข้าใจกันดีโดยทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติอาจมีอะไรลึก ๆ ที่-รู้ดี แต่ไม่ทำ หรือทำไม่ได้
บางทีก็เป็นพวกเดียวกันนั่นแหละ ไม่ได้ประกาศว่าเป็นคนละนิกายหรือ “นานานิกาย” แต่ทำอะไรไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มในพวกในสังกัดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะมีลักษณะนิสัยหรือบุคลิกไม่เหมือนกัน จึงต่างคนต่างทำ ไม่เป็นเอกภาพ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราบังคับให้คนคิดเหมือนกันไม่ได้ก็จริง
: แต่สร้างกติกาให้คนปฏิบัติเหมือนกันได้
#บาลีวันละคำ (4,366)
26-5-67
…………………………….
…………………………….