จบบริบูรณ์ (บาลีวันละคำ 957)
จบบริบูรณ์
เมื่ออ่านหนังสือมาถึงหน้าสุดท้าย และถ้าเป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง เราก็มักจะพบคำว่า “จบบริบูรณ์”
คำว่า “จบบริบูรณ์” มีคำบาลีคือ “บริบูรณ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริบูรณ์ : (คำกริยา) ครบถ้วน, เต็มที่, เต็มเปี่ยม. (ส. ปริปูรฺณ; ป. ปริปุณฺณ).”
พจน.54 บอกว่า “บริบูรณ์” บาลีว่า “ปริปุณฺณ”
“ปริปุณฺณ” ในบาลีเป็นคำกริยา และใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า –
(1) เต็มเปี่ยม, เต็มรอบ, บริบูรณ์, เสร็จสิ้น, เป็นที่พอใจ (quite full, fulfilled, complete, finished, satisfied)
(2) บริบูรณ์, ไม่บกพร่อง, สมบูรณ์, มั่นคงแข็งแรง, มีสุขภาพดี (complete, not defective, perfect, sound, healthy)
ความจริงศัพท์บาลีก็มีคำว่า “ปริปูรณ” (ปะ-ริ-ปู-ระ-นะ) ซึ่งตรงกันกับ “บริบูรณ์” แปลว่า การทำให้เต็ม, การทำให้สำเร็จ (fulfilment, completion)
“จบบริบูรณ์” ถ้าเป็นภาพยนตร์ฝรั่ง เมื่อจบเรื่องก็จะมีคำว่า the end
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “จบบริบูรณ์” เป็นภาษาอังกฤษว่า the end; to come to an end
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล end เป็นบาลีหลายศัพท์ เช่น –
(1) anta อนฺต (อัน-ตะ) = ที่สุด
(2) pariyanta ปริยนฺต (ปะ-ริ-ยัน-ตะ) = ท้ายที่สุด
(3) koṭi โกฏิ (โก-ติ) = ปลาย, ริม
(4) osāna โอสาน (โอ-สา-นะ) = การสิ้นสุด, การลงท้าย
(5) pariyosāna ปริโยสาน (ปะ-ริ-โย-สา-นะ) = การจบเสร็จ, สำเร็จเสร็จสิ้น
(6) niṭṭhāna นิฏฺฐาน (นิด-ถา-นะ) = การจบลง, ทำไปจนจบเสร็จ
อีกคำหนึ่งที่นิยมใช้ในภาษาไทย คือ “อวสาน” (คำนี้ไม่มี ต์)
“อวสาน” บาลีอ่านว่า อะ-วะ-สา-นะ แปลว่า การจบลง การสิ้นสุด, การอวสาน, การลงเอย (stopping ceasing; end, finish, conclusion)
อย่างไรก็ตาม “จบบริบูรณ์” หรือ the end ในคัมภีร์บาลีนิยมใช้คำว่า “สมตฺต” (สะ-มัด-ตะ) และ “นิฏฺฐิต” (นิด-ถิ-ตะ) เป็นพื้น
: สมตฺต แปลว่า (1) สำเร็จ, จบ (accomplished, brought to an end) (2) สมบูรณ์, ครบถ้วน, ดีเลิศ (complete, entire, perfect)
: นิฏฺฐิต แปลว่า จบหรืออวสาน, สิ้นสุด, สำเร็จ (brought or come to an end, finished, accomplished)
วันนี้ ปีพุทธศักราช 2557 จบบริบูรณ์
: จบบริบูรณ์เฉพาะปี
: แต่การทำความดียังไม่จบ
#บาลีวันละคำ (957)
31-12-57